สสส. สานพลัง อสม. ดูแลสุขภาพคนในชุมชน 77 จังหวัด ให้มีสุขภาวะระดับปฐมภูมิ
สสส. สานพลัง อสม. ดูแลสุขภาพคนในชุมชน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ส่งเสริมประชาชนมีสุขภาวะระดับปฐมภูมิทั่วประเทศ ดูแลสุขภาพประชาชนอย่างใกล้ชิด-ยกระดับการทำงาน-สื่อสาร สร้างพื้นที่อสม.ต้นแบบ สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น
ที่ รร.ซันธารา เวลเนส รีสอร์ท จ. ฉะเชิงเทรา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมอาสาสมัครสาธารณสุข จ.ฉะเชิงเทรา เปิดโครงการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำงานบูรณาการประเด็นสุขภาพในระดับพื้นที่ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญส่งเสริมให้ประชาชนมีความสุขภาพดีตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ จึงสนับสนุนความรู้ ความสามารถของ อสม. ในฐานะแกนนำที่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ อสม. แกนนำระดับตำบล อำเภอ จังหวัด มีศักยภาพในการจัดการสุขภาพชุมชนเชิงรุก สามารถยกระดับให้เกิดนวัตกรรมส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน มีความสามารถ ความรู้ ความเข้าใจ ประเมินสถานการณ์สุขภาพ และตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา ฟื้นฟูสุขภาพในขั้นเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสม
“อสม. เป็นกำลังสำคัญ ที่เชื่อมต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ 100 แห่ง จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ พัฒนาเครือข่าย อสม. ต้นแบบ สร้างความเข้มแข็งสู่การขยายเครือข่ายการทำงานในอนาคต เกิดพื้นที่ชุมชนต้นแบบสำหรับการเรียนรู้การทำงาน มุ่งเป้าเชิงประเด็นสุขภาพในพื้นที่ ขยายผลการทำงาน จัดทำเป็นฐานข้อมูลการติดตามพฤติกรรมสุขภาพ สามารถวัดผลลัพธ์ทางสุขภาพทั้งเชิงบวกและลบในระดับพื้นที่ เพื่อส่งต่อข้อมูลไปสู่ระบบสาธารณสุขของประเทศต่อไป” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นายจำรัส คำรอด ประธานชมรม อสม.แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ม. เป็นบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม ที่มาจากการยอมรับของคนในชุมชนในการปฏิบัติหน้าที่ ในอดีตงานอสม. เป็นการช่วยการจัดการยุงลาย ป้องกันไข้เลือดออก พิษสุนัขบ้า หรืองานควบคุมโรคต่างๆ งานโรคระบาดตามฤดูกาล แต่เมื่อสสส. ได้เข้ามาหนุนเสริมพัฒนาศักยภาพยกระดับให้อสม. เป็นหมอประจำบ้าน หรือหมอคนที่ 1 อบรมตัวแทนหมู่ละ 2 คน ดูแลผู้ป่วยติดเตียงในหมู่บ้านของตนเอง เช่น วัดความดัน จ่ายยา เจาะเลือดตรวจเบาหวาน ช่วยรพสต. ในการคัดกรองผู้ป่วยความดัน เบาหวาน รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมจากกลุ่มผู้สูงอายุ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพและถ่ายทอดให้กับคนในชุมชนได้อย่างถูกต้อง ช่วยป้องกันการเกิดโรค ถือเป็นการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีตั้งแต่ระบบปฐมภูมิอย่างแท้จริง