“ชลน่าน” หนุนสสอ.-หมอเกษียณเรียนหลักสูตร “แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” หารือความก้าวหน้า สวัสดิการ
รมว.สาธารณสุขหนุนหลักสูตร ‘แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว’ รองรับบริการสุขภาพปฐมภูมิ ชวนสาธารณสุขอำเภอศึกษาต่อเพื่อกลับมาทำงานในพื้นที่ ขณะที่หมอเกษียณ รวมอบรมเป็นแพทย์แฟมเมดบริการประชาชนได้เช่นกัน ยังเชิญชวนสมาคม สสอ.ร่วมคิดหาสวัสดิการเอื้อบุคลากร
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมเชิงปฏิบัติการ Quick Win (แผนปฏิบัติการเร่งรัด) ยุคเปลี่ยนผ่าน “ก้าวสู่ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ 30 บาท รักษาทุกโรคยุคใหม่” ซึ่งเป็นการประชุมสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) ทั่วประเทศ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กทม. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ว่า เมื่อมองไปอีก 20 ปีข้างหน้าจึงเป็นความท้าทายด้านระบบสุขภาพมากขึ้น โดยสิ่งที่เป็นปัญหาเรามักจะบอกว่ามาจากเชื้อโรค แต่ปัจจุบันไม่ใช้แค่นั้น หากชั่งน้ำหนักจะพบว่ามีประมาณ 20% แต่อีก 80% ไม่ใช้ตัวเชื้อโรค
“ดังนั้น ความท้าทายการดูแลสุขภาพในอนาคต คือ เราต้องรู้ความเสี่ยงต่อระบบสุขภาพ ว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อระบบสุขภาพไม่ใช่แค่เชื้อโรค แต่มีปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะ ปัจจัยสังคมที่กำหนดสุขภาพ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ตลอด ในระดับโลกมีการกำหนดSDGs (Sustainable Development Goals) ซึ่งเป็นการพัฒนาความมั่นคงอย่างยั่งยืน มีการกำหนด 17 ปัจจัย แต่ไทยมี 2 ปัจจัยที่ทำให้เราติดตัวแดง คือ อุบัติเหตุและวัณโรค ส่งผลให้เรายังไม่ถึง 1 ใน3 ระดับนานาชาติ จึงต้องฝากขับเคลื่อนเรื่องนี้เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ลง” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงประเด็นการทำงานช่วงเปลี่ยนผ่าน การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ว่า ขอให้ปฏิบัติตามกฏหมายและต้องให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ขอให้มั่นใจว่าการกระจายอำนาจ เป็นการได้ไปอยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน และเขาต้องได้รับประโยชน์จากการบริการสาธารณะการบริการสาธารณสุข เราต้องเอาตัวนี้เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาตัวเราสาธารณสุข หรืออบจ.เป็นตัวตั้ง
กฎหมายกำหนดต้องมี ‘หมอเวชศาสตร์ครอบครัว’
“เรื่องกฎหมายปฐมภูมิ อย่างพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562นั้น ต้องมีความชัดเจนในการดำเนินงาน มีระบบการดูแลแบบสหวิชาชีพ ซึ่งปัจจุบันมีพ.ร.บ.ฯ เขียนไว้ชัดเกี่ยวกับการทำงานแบบสหวิชาชีพ กำหนดว่ามีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเข้ามาให้บริการประชาชน และมีการขึ้นทะเบียนลงทะเบียนชัดเจนโดยขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ มีคำถามว่าระบบนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จริงๆมีแล้วที่จ.เชียงใหม่ สามารถไปดูเป็นต้นแบบได้” นพ.ชลน่าน กล่าว
รัฐมนตรีว่าการสธ.กล่าวอีกว่า เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขมีสถาบันพระบรมราชชนก ในการผลิตบุคลากรรองรับ ซึ่งปัจจุบันมี 3 คณะ คือ คณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาล และสหวิชาชีพ โดยตั้งเป้าภายใน 10 ปีจะผลิตบุคลากรเพื่อสนับสนุนงานปฐมภูมิได้ โดยในปีหน้าจะนำร่องเติมเต็มบุคลากร ด้วยการผลิตแพทย์เข้าสู่สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 91 แห่ง เห็นได้ว่าเราให้ความสำคัญกับงานปฐมภูมิ และเป็นหนึ่งในนโยบาย 13 ประเด็น ซึ่งสสอ.มีความสำคัญในงานปฐมภูมิเช่นกัน จะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้
“ ในภาวะเร่งด่วนการหาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ระหว่างรอการผลิตนั้น เราจะนำมาจากไหน ตรงนี้เป็นคำถามที่ต้องรีบจัดการ ซึ่งกระบวนการตรงนี้กำลังเริ่มทำ อย่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เปิดโอกาสให้แพทย์จบสาขาอื่น ไปเรียนรู้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเพียง 2 สัปดาห์ เป็นหลักสูตรระยะสั้นของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือหมอเฟมเมด เมื่อจบจะได้ใบรับรองทันที สามารถนำมาปฏิบัติงานในระบบสุขภาพปฐมภูมิได้สอดคล้องกับกฎหมาย” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า จริงๆมีแนวคิดว่า ช่วงที่ยังไม่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเพียงพอ จะสามารถให้แพทย์สาขาอื่นมาดูพี่น้องประชาชนในหน่วยบริการปฐมภูมิได้หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าทำได้ เพราะว่าแพทย์มีใบประกอบโรคศิลปะอยู่แล้ว เพียงแต่ยังอยู่ระหว่างรอรอใบรับรองหลักสูตรแพทย์แฟมเมด ก็สามารถตรวจรักษาได้
“นอกจากนี้ ท่านสาธารณสุขอำเภอที่เกษียณอายุราชการ ก็สามารถไปศึกษาต่อด้านนี้ได้ รวมถึงแพทย์ที่เกษียณอายุราชการแล้วก็มาช่วยปฏิบัติงานระบบสุขภาพปฐมภูมิได้เช่นกัน เพราะคนที่เกษียณยังมีศักยภาพทำงานได้” นพ.ชลน่านกล่าว
ชูความก้าวหน้าสาธารณสุขอำเภอ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงโอกาสความก้าวหน้าของสสอ. ว่า จริงๆในเรื่องความก้าวหน้า สวัสดิการต่างๆ นั้น ทางสมาคมสาธารณสุขอำเภอ อาจต้องมาช่วยกันคิดว่ามีอะไรที่จะช่วยกันทำให้เป็นสวัสดิการสำหรับพวกเรา มีอะไรให้คนทำงานตั้งแต่ระหว่างทำงาน หรือเกษียณอายุไปแล้วจะทำอย่างไรได้บ้าง ทั้งหมดก็เพื่อให้พวกเราทำงานอย่างมีความสุข ขอให้มาหารือร่วมกัน