ยังไม่เสร็จ! ร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชงฯฉบับใหม่ รอรับฟังความคิดเห็นไม่เกิน ธ.ค. เครือข่ายฯห่วงไม่ชัดเจน
“ชลน่าน” เผยร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชง ยังอยู่ระหว่างจัดทำ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็น พ.ย.-ธ.ค.นี้ ด้านแกนนำเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ห่วง 2-3 ประเด็น โดยเฉพาะสิทธิการปลูกของประชาชนในครัวเรือน นิยามกัญชาเพื่อสุขภาพ ฯลฯ
วันที่ 16 พ.ย. 66 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการจัดทำร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชงพ.ศ….ว่า ขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างการยกร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งเพิ่งจะมีการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กระบวนการจากนี้ก็จะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็น ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นจะนำมาปรับปรุงร่างพ.ร.บ.อีกครั้ง
แหล่งข่าวระดับสูงแจ้งว่า คณะทำงานฯ ได้ยกร่างพ.ร.บ.ฯ ดราฟแรกเสร็จแล้ว ซึ่งจะมี 77 มาตรา ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมจัดทำเรื่องการรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วไป จะดำเนินการผ่านเว็บไซต์ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวมถึงจะมีการจัดประชุมรับฟังความเห็นทั้งแบบออนไลน์ และออนไซต์ที่ห้องประชุมของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก คาดว่าจะดำเนินการรับฟังความเห็นได้ภายในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน หรือกลางเดือนธันวาคมนี้
ทั้งนี้ การรับฟังความเห็นจะใช้เวลา 15 วัน จากนั้นจะมีการสรุปประมวผล และนำมาปรับกับร่างพ.ร.บ.ฯ อีกครั้ง ซึ่งตอนนั้น ร่างฯ อาจจะมีการปรับปรุงมาตราเพิ่มขึ้น หรือลดลงอีกก็ได้ ก่อนจะเสนอเข้าที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอต่อรมว.สาธารณสุข เพื่อนำส่งเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อผ่านแล้วก็จะส่งไปยังสำนักงานกฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบ และปรับแก้ให้ถูกต้องตามกฎหมายและเจตนารมณ์ เสร็จแล้วก็ส่งกลับมาที่ครม.เพื่อยืนยันร่างฯ ก่อนส่งเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป
“ตามกระบวนการกำหมายไม่ได้กำหนดว่า ต้องออกพ.ร.บ.ฯให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาเท่าไหร่ ซึ่งกระทรวงเองก็ไม่สามารถควบคุมตรงนั้นได้ แต่เราตั้งใจว่า หลังรับฟังความเห็นเสร็จแล้วจะต้องมีการปรับแก้ร่างพ.ร.บ.ฯ และส่งเข้าครม.ให้ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ หรือต้นเดือนมกราคม 2567” แหล่งข่าวกล่าว
วันเดียวกัน นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล แกนนำเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า ขณะนี้ตนยังไม่เห็น ร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับใหม่ปรากฏสู่สายตาประชาชน แต่จากที่เคยได้เข้าไปพบกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา ยังมี 2-3 ประเด็นที่เครือข่ายฯ มีความกังวล คือ 1.กฎหมายใหม่ที่ออกมานี้จะกระทบต่อสิทธิการปลูกกัญชาของประชาชนระดับครัวเรือนหรือไม่ เพราะถ้าหากมีการเพิ่มระเบียบหรือกฎเกณฑ์ในการปลูกมากขึ้น เช่น จะต้องปลูกในโรงเรือน จะต้องมีกล้องวงจรปิด มีการติดตั้งระบบควบคุมความปลอดภัย เป็นต้น เหล่านี้จะทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถปลูกได้ ซึ่งจะต่างจากร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเคยเสนอไว้ 2.ความกังวลเรื่องนิยามการใช้กัญชา เพื่อการสันทนาการ หรือการสูบเพื่อสุขภาพ และ 3.ความกังวลว่าจะมีการนำบางส่วนของกัญชากลับเข้าไปเป็นยาเสพติดหรือไม่
“ถ้าดูจากตามข่าวตอนนี้ที่รมว.สธ. ให้สัมภาษณ์ เราก็มีความกังวลอยู่แต่ก็ต้องดูว่าตัวกฎหมายจริงๆ เขียนไว้ว่าอย่างไรบ้าง ซึ่งในการคุยกับท่านรมว.ชลน่าน ครั้งก่อน ท่านได้รับปากว่าจะเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อกฎหมายกัญชาฉบับใหม่นี้ ก่อนที่จะมีการนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภา” นายประสิทธิ์ชัยกล่าว
นายประสิทธิ์ชัยกล่าวต่อว่า สำหรับนิยามของคำว่าใช้กัญชาเพื่อสุขภาพ จริงๆ แล้วก็มีเขียนอยู่ในตำรายาในสมัยโบราณ ว่าการสูบก็ถือเป็นหนึ่งในวิธีการรักษา อย่างตนปวดหัวไมเกรนเมื่อใช้กัญชาโดยวิธีการสูบเพียงเล็กน้อยก็ทำให้อาการปวดหายไปได้ถึง 70% ฉะนั้นจะต้องมีการมาจัดระบบว่าอันไหนที่เรียกว่า ‘รักษา’ และ ‘สันทนาการ’ โดยในส่วนนี้มีการเสนอว่า ให้แพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนปัจจุบันที่ทำการรักษาโรค เป็นผู้ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ป่วยว่าสามารถใช้กัญชาในลักษณะการสูบได้ แต่ตนไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการนี้ เพราะท้ายที่สุดแล้วจะทำให้คนทั่วไปอ้างกับแพทย์ว่าตนเองมีอาการป่วย เช่นปวดหัวไมเกรน แล้วไปขอใบรับรองแพทย์เพื่อนำมาอ้างอิงว่าตัวเองป่วย ซึ่งโดยข้อเท็จจริงวิธีการนี้ไม่สามารถป้องกันอะไรได้เลย
“ประเด็นต่อมาคือการสูบกัญชาเป็น 1 ในวิธีการรักษาไม่ว่าผู้ที่ใช้นั้นจะป่วยเป็นอะไรก็ตาม กัญชาก็จะช่วยบรรเทาโรคอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญกว่าเรื่องของการสูบคือกลิ่นและควันที่อาจจะไปรบกวนผู้อื่น ซึ่งบางคนถึงขั้นแพ้ ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่เราต้องมากำหนด ซึ่งในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ชุดก่อนระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามใช้กัญชาในที่สาธารณะ เพราะต่อให้มีใบอนุญาตแต่ไปสูบรบกวนผู้อื่น ตอนนี้ปัญหาของกัญชาไม่ใช่ว่าคุณสูบเพื่ออะไร แต่เป็นปัญหาว่าที่คุณสูบนั้นรบกวนใครหรือไม่ ดังนั้นต้องกำหนดเรื่องนี้ให้ชัด” นายประสิทธิ์ชัยกล่าว
เมื่อถามว่าพอจะมีแนวทางในการแยกว่าลักษณะใดเป็นการใช้เพื่อสันทนาการหรือใช้เพื่อสุขภาพหรือไม่ นายประสิทธิ์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นข้อกังวลของสังคม และเป็นเรื่องที่แยกได้ยาก แต่ถ้าจะแย่จริงๆ อาจจะต้องกำหนดเรื่องของจำนวนคนที่อยู่ในพื้นที่ เช่นมีคนรวมกลุ่มกันเพื่อสูบกัญชาในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในลักษณะ ‘ปาร์ตี้’ ก็จะเป็นความผิดทางกฎหมายว่าเป็นการสันทนาการได้ แต่ถ้าใช้อยู่คนเดียวในพื้นที่ส่วนตัวก็จะไม่ไปรบกวนผู้อื่น แบบนี้ไม่ควรจะผิด