คกก. ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ เห็นชอบประกาศกำหนดชื่อหรืออาการสำคัญของโรค พร้อมให้เตรียมมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคจาก PM2.5 เพิ่มสูงขึ้น
คณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ เห็นชอบประกาศกำหนดชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม พร้อมรับทราบสถานการณ์โรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ห่วงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ให้กรมควบคุมโรคเตรียมมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค
วันที่ 24 พ.ย. 66 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3/2566 โดยมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นพ.โอภาสกล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุมฯ มีการทบทวนและพิจารณากฎกระทรวงและประกาศกระทรวงจำนวน 8 ฉบับ ได้แก่
1.การกำหนดมาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการอาชีวเวชกรรม
2.การกำหนดมาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม
3.การขึ้นทะเบียนของหน่วยบริการ
4.การตรวจสุขภาพของแรงงานนอกระบบ
5.การแจ้งข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อมจากประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ
6.คุณสมบัติหน่วยงานอื่นใดของรัฐที่จะดำเนินการขึ้นทะเบียน
7.การแจ้งและการรายงานข้อมูลการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและแรงงานนอกระบบ หรือการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ
8.การเข้าไปในสถานประกอบกิจการของนายจ้าง แหล่งกำเนิดมลพิษ ยานพาหนะ หรือสถานที่ใดๆ ของพนักงานเจ้าหน้าที่
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบทั้ง 8 ฉบับ และมีมติเห็นชอบเพิ่มเติมใน 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่
1. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากการประกอบอาชีพ พ.ศ. ….
2. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ….
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้รับทราบสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พบว่า อัตราการป่วยด้วยโรคจากสารกำจัดศัตรูพืช โรคซิลิโคสิสจากฝุ่นซิลิกา โรคจากแอสเบสตอส โรคจากตะกั่ว ที่เกิดจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มลดลง ส่วนโรคผิวหนังจากการทำงาน และโรคประสาทหูเสื่อม พบผู้ป่วยมากกว่าปีก่อนหน้าเล็กน้อย ส่วนสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวจึงส่งผลให้แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งในปี 2567 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาหมอกควันมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องโดยมอบหมายคณะอนุกรรมการด้านวิชาการ จัดทำระบบและแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว 4 กลุ่มโรค ได้แก่ 1) กลุ่มโรคทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหืด 2) กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 3) กลุ่มโรคตาอักเสบ และ 4) กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ ได้แก่ โรคผื่นลมพิษ และโรคผื่นผิวหนังอักเสบ หากผู้ป่วยกลุ่มโรคดังกล่าวมีอาการรุนแรงมากขึ้นในช่วงฝุ่น PM2.5 มีค่ามากกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว