สปสช. เผยแนวทางบริหารกองทุนบัตรทอง ปี 68 เพิ่มงบผู้ป่วยในกว่า 10% เดินหน้า 30 บ.รักษาทุกที่
สปสช. เผยแนวทางบริหารจัดการ “กองทุนบัตรทอง ปีงบประมาณ 2568” เดินหน้าพัฒนา “30 บาทรักษาทุกที่” ต่อเนื่อง ขยายหน่วยบริการนวัตกรรม เพิ่มงบผู้ป่วยในรองรับ พร้อมขยายและสิทธิประโยชน์บริการใหม่ พร้อมปรับระบบ กลไกการจ่าย แก้ปัญหาปัญหาผู้ป่วยส่งต่อใน กทม.
เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 67 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2568 ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบัตรทองภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ และ 2. การปรับปรุงระบบและกลไกการจ่ายของ สปสช. รวมถึงเพิ่มงบประมาณ เพื่อตอบสนองต่อเสียงสะท้อนของหน่วยบริการ
ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบัตรทอง ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่นั้น ซึ่งขณะนี้ดำเนินการมาแล้ว 46 จังหวัด และจะครบทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2567 นั้น จะเป็นการเพิ่มหน่วยบริการนวัตกรรม และขยายนวัตกรรมบริการต่างๆ เช่น การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ฯลฯ ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของกลุ่มที่ยังไม่ใช้สิทธิในการรักษาตามระบบ
ส่วนบริการผู้ป่วยในในปี 2568 นี้ งบบัตรทองประเภทผู้ป่วยในยังได้มีการเพิ่มขึ้นกว่า 10% จากปี 2567 เพื่อรองรับการรับบริการของประชาชนสิทธิบัตรทองที่มีโอกาสจะเพิ่มมากขึ้นจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ พร้อมกับทำให้หน่วยบริการได้รับค่าบริการเพิ่มขึ้นด้วย
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพของ 30 บาทรักษาทุกที่แล้ว อีกสิ่งที่จำเป็นต้องทำควบคู่กันไปด้วยตามนโยบายรัฐบาลก็คือ การดูแลประชาชนให้มากขึ้น โดยปี 2568 จะมีการขยายสิทธิประโยชน์ที่เป็นการทำต่อเนื่องจากปี 2567 และ สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเข้ามาใหม่จริงๆ
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ทำต่อเนื่อง เช่น ขยายกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) คัดกรองโรคทางพันธุกรรมในเด็กแรกเกิด ตรวจปัสสาวะคัดกรองมะเร็งพยาธิใบไม้ในตับ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ยาจิตเวช ฯลฯ ส่วนสิทธิประโยชน์ใหม่ที่ได้งบประมาณมาแล้ว และจะพิจารณากันต่อ เช่น การคัดกรองวัณโรคระยะแฝง การให้ฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ สายด่วนวัยรุ่น การให้คำปรึกษาทางจิตเวช (Countseling) ฯลฯ
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ส่วนการปรับระบบและกลไกการจ่ายเพื่อแก้ไขข้อติดขัดที่เกิดขึ้น จะเน้นไปที่พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำในกรุงเทพฯ และส่งต่อรักษาจากคลินิกฯ ไปที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่
สำหรับการปรับระบบ สปสช. จะจัดสรรงบบัตรทองเหมาจ่ายรายหัวให้กับทางคลินิกเหมือนเดิมแต่จะพยายามให้ครอบคลุมประชากร 1 หมื่นคน ซึ่งถ้ามีการส่งต่อรักษาและโรงพยาบาลรับส่งต่อมีการเรียกเก็บค่าบริการ ให้คลินิกจ่ายเพียง 800 บาทตามที่ตกลงกันไว้เท่านั้น ส่วนที่เหลือให้ทางโรงพยาบาลรับส่งต่อเบิกจาก สปสช. และในตอนที่คลินิกต้องตามจ่าย 800 บาทให้นั้น สปสช. จะมีการให้คลินิกตรวจสอบข้อมูลก่อนจ่ายร่วมกันด้วยว่ามีการส่งต่อไปจริงหรือไม่
อีกทั้งยังจะมีการสร้างกติกาใหม่เพื่อป้องกันกรณีคลินิกกลัวจะต้องตามจ่ายทำให้ไม่ออกใบส่งตัวให้ผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาล สปสช. จะใช้ระบบใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องกลับไปเอาใบส่งตัวจากคลินิก เพียงโทร. สายด่วน สปสช. 1330 จะมีเจ้าหน้าที่ประสานให้คลินิกออกใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์ให้ ถ้าผู้ป่วยไปแบบไม่มีใบส่งตัว โดยมีความจำเป็นที่จะต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล อันนี้ สปสช. จะตามไปจ่ายให้กับโรงพยาบาลรับส่งต่อให้ ไม่ต้องกลัว แต่ถ้าบางกรณีสามารถส่งกลับไปรักษาที่คลินิกได้ ก็จะขอให้โรงพยาบาลช่วยทำเรื่องส่งกลับ
“ทั้งหมดนี้เป็นแผนการดำเนินงานของ สปสช. ในปีงบประมาณ 2568 โดยมีประชาชนเป็นเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการที่ครอบคลุมและทั่วถึง อย่างมีมาตรฐานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อร่วมยกระดับให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามนโยบายของรัฐบาล” นพ.จเด็จ กล่าว