รัฐสภาไทย เร่งสานพลังหวังลดอุบัติเหตุ ตั้งเป้าเหลือ 8,474 รายในปี 2570
ปี 66 คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน อันดับที่ 18 ของโลก สูงสุดในเอเชีย รัฐสภาไทย…สานพลังเพื่อความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 2 ลดตายเหลือ 12 ต่อแสนประชากร หรือ 8,474 ราย ภายในปี 2570
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่รัฐสภา มีการจัดงาน “รัฐสภาไทย…สานพลังเพื่อความปลอดภัยทางถนน” ครั้งที่ 2 เพื่อเร่งขับเคลื่อนทิศทางและเข็มมุ่งในการขับเคลื่อนภารกิจงานของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ในการสร้างความปลอดภัยทางถนน เนื่องจากอุบัติเหตุทางถนนยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ที่สร้างการบาดเจ็บและความสูญเสียให้กับสังคมไทย ไม่เพียงพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่เคารพกฎจราจรของคนไทย ตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้อย่างเข้มงวดและเท่าเทียม ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 12 ต่อแสนประชากร หรือ 8,474 ราย ในปี 2570
พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เปิดเผยว่า อุบัติเหตุทางถนนส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนมาอย่างยาวนาน ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตในปี 2566 อยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก ซึ่งสูงสุดในภูมิภาคเอเชีย การสูญเสียเกิดขึ้นมากในกลุ่มผู้ใช้จักรยานยนต์ เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต ดังนั้น ต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคนิติบัญญัติ รัฐสภา ซึ่งมีส่วนในการบัญญัติกฎหมาย เพื่อลดอุปสรรคในการดำเนินการ
ด้าน นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต และความปลอดภัยของประชาชนไทยอย่างรุนแรง การสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ส่งผลต่อชีวิต แต่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึงประมาณ ร้อยละ 6 ของจีดีพี หรือกว่าปีละ 600,000 แสนล้านบาท ทั้งที่เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ โดยล่าสุดข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิต ยังคงสูงถึงกว่า 17,000 คน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายถึง 3,600 คน
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานครอบคลุมในมิติต่าง ๆ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนขึ้น 4 คณะ ได้แก่
1) คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย
2) คณะอนุกรรมการประสานงาน บริหารจัดการ รณรงค์แสะการประชาสัมพันธ์
3) คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านยานพาหนะ
4) คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ
“เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดผู้เสียชีวิต จำเป็นต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภามีบทบาทสำคัญในการบัญญัติกฎหมาย สนับสนุนและลดอุปสรรคการดำเนินงาน การอนุมัติงบประมาณประจำปี และการกำกับติดตามการดำเนินการของรัฐบาล ตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนที่วางไว้” นายพิเชษฐ์ กล่าว
นายมาร์ค แลนดรี้ รักษาการผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวชื่นชมบทบาทของรัฐสภาไทยในการสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เพราะเป็นหน่วยงานที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านการออกกฎหมาย การจัดสรรงบประมาณ การกำกับดูแล และการสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสังคม ซึ่งการจัดตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 คณะ สะท้อนแนวทางการทำงานแบบองค์รวมที่สามารถเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นเรียนรู้ได้
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก จะร่วมสนับสนุนการดำเนินงานใน 3 ด้านหลัก ได้แก่
1) การใช้มาตรการเชิงหลักฐาน
2) การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร
3) การสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ ควบคู่ไปกับแนวทางแก้ไขสำคัญ โดยเน้นย้ำมาตรการที่คุ้มทุนและมีประสิทธิภาพ เช่น การสวมหมวกนิรภัย 100% การบังคับใช้กฎหมายความเร็ว และดื่มไม่ขับ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัย และการดูแลหลังเกิดเหตุ
การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด การพัฒนาความปลอดภัยของจักรยานยนต์ การออกแบบถนนที่ปลอดภัย และการจัดสรรทรัพยากรในจุดสำคัญ ถือเป็นความท้าทายที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน
ด้าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า บทบาทของ สสส. มุ่งเน้นสนับสนุนการขับเคลื่อนงานในทุกภาคส่วน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนน ที่ทำให้คนไทยตาย พิการ ก่อนวัยอันควร (ค่าเฉลี่ยอายุปี 2567 อันดับ 78 ของโลก) โดยสนับสนุนให้เกิดการทำงานภายใต้แผนแม่บท ผ่าน ศปถ. โดยอาศัยการจัดการข้อมูล การใช้เทคโนโลยี การบังคับใช้กฎหมาย และการบูรณาการระหว่างสามกองทุน เพื่อลดความเสี่ยงในกลุ่มเยาวชน
นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนในพื้นที่ โดยเข้าไปหนุนเสริมภาคีเครือข่าย ให้ทำงานป้องกันและแก้ไข เช่น ผลักดัน อนุกฎหมายระดับจังหวัด การดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมผ่านกองร้อยอาสาตาจราจร การจัดการพื้นที่เสี่ยงอำเภอ/ตำบล มีการจัดโครงการสวมหมวกกันน็อก 100% ในสถาบันอุดมศึกษา และเยาวชนปลอดภัย เช่น ธนาคารหมวกกันน๊อกในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นต้น