รบ.เข้มมาตรการ ตั้งเป้าลดเจ็บ ตาย จากอุบัติเหตุทางถนนลง 50% ในปี 2573
ข้อมูล WHO ชี้ปี 66 ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนไทย ติดอันดับ 18 ของโลก มหาดไทย-สสส.-คมนาคม สานพลังเข้มข้น สร้างกลไกเข้มแข็ง-ถนนไทยปลอดภัย ชูสัมมนาวิชาการระดับชาติครั้งที่ 16 เชื่อมโยงเครือข่ายแก้ไขปัญหาทุกภาคส่วน ตั้งเป้าลดการตายจากอุบัติเหตุลง 50% ในปี 73
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 67 ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย (มท.) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ร่วมแถลงข่าวสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16 “สานพลังเข้มข้น สร้างกลไกเข้มแข็ง เพื่อถนนไทยปลอดภัย” Road Safety Stronger Together
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลกปี 2566 พบไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 18,218 ราย ติดอันดับ 18 ของโลก ลดลงจากอันดับ 9 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนประชากรอยู่ที่ 25 คนต่อแสนประชากร โดยผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ในกลุ่มอายุ 20-24 ปี คิดเป็น 9.83% และรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากที่สุด คิดเป็น 79.69% ในส่วนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนปี 2565 สูงถึง 1,060,566 ราย ต้องใช้งบประมาณในการรักษากว่า 7,827 ล้านบาท เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไทยจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการสร้างแนวทางกลไกระบบความปลอดภัย หรือ Safe System Approach ด้วยการสร้างกลไกการทำงานที่แข็งแรง สร้างถนนที่ปลอดภัยให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน
“รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความปลอดภัยทางถนน จัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 พ.ศ. 2565-2570 กำหนดนโยบาย และทิศทางการดำเนินงานในระดับพื้นที่ในแต่ละจังหวัดพร้อมระบบประเมินและติดตาม ผ่านจุดเน้นสำคัญ 4 ประเด็น 1. การจัดการอุบัติเหตุในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 2. การจัดการอุบัติเหตุ และการเสียชีวิตในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต 3. การจัดการความเร็ว (speed management) พัฒนาสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และการเดินทางที่ยั่งยืน 4. การติดตามและประเมินผล (monitoring and evaluation) ทั้ง 4 จุดเน้นต้องอยู่บนมาตรการที่สามารถดำเนินการได้จริง มีกลไกในพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ ตั้งเป้าลดอัตราการเจ็บ การตาย จากอุบัติเหตุทางถนน 50% ภายในปี 2573” นายไชยวัฒน์ กล่าว
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากผลสำรวจอายุคาดเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2567 ของ www.worldometers.info พบว่า ประเทศไทยมีอายุคาดเฉลี่ยอยู่อันดับที่ 78 ของโลก โดยภาพรวมอายุคาดเฉลี่ย 76.56 ปี ซึ่งผู้ชายจะมีอายุสั้นกว่าผู้หญิงเกือบ 9 ปี ข้อมูลจำนวนการตายจำแนกเพศ และกลุ่มอายุ ในช่วงปี 2561-2565 จากฐานข้อมูลการตาย กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข พบคนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 164,720 ราย แบ่งเป็น ผู้ชาย 115,161 ราย และผู้หญิง 49,559 ราย ซึ่งอุบัติเหตุทางถนนเป็น 1 ใน 3 สาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนไทย โดยผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มอายุ 5-44 ปี มากถึง 9,009 คน ถึงเวลาที่ไทยจำเป็นต้องทบทวนกระบวนการ ค้นหาเทคนิค และเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงค้นวิธีการจัดการปัญหาให้ลึกถึงรากของปัญหา เพื่อเสริมประสิทธิภาพของการลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน
“สสส. ขับเคลื่อน และรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนน ร่วมกับภาครัฐ เอกชน เครือข่ายภาคี ภาคีเครือข่าย มาตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบัน โดยมีจุดเน้นสำคัญ 1. ลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน 2. สร้างสภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความปลอดภัย 3. พัฒนาการทำงานในพื้นที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้บาดเจ็บและเสียชีวิตลดลง โดยได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่สำคัญ เพื่อสร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และระบบแห่งความปลอดภัย ส่งเสริมการจัดการข้อมูล เทคโนโลยี เปิดโอกาสทุกภาคส่วนสังคมร่วมขับเคลื่อนบูรณาการร่วมกันแก้ไขปัญหาจากระดับฐานราก สร้างชุมชนท้องถิ่นที่ปลอดภัย ลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ไปถึงเป้าหมายในอนาคต” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นายฐิติพัฒน์ ไทยจงรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ไทยมีเป้าหมายการลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้เหลือ 12 คนต่อประชากรแสนคน หรือ 8,478 คน ให้สำเร็จภายในปี 2570 กรมการขนส่งทางบกได้เดินหน้ายกระดับความปลอดภัยด้านยานพาหนะอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุน และส่งเสริมให้การขนส่งทางถนนเป็นไปด้วยความปลอดภัย สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาให้ระบบการขนส่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลของสหประชาชาติ (UN Regulation) อาทิ การเสริมอุปกรณ์ความปลอดภัยภายในยานพาหนะโดยเฉพาะในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ กลุ่มรถจักรยานยนต์ และความปลอดภัยด้านเด็กและเยาวชน รวมไปถึงการพัฒนาระบบการให้ความรู้สร้างความตระหนักให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ ด้วยการเสริมหลักสูตรในการขอใบอนุญาตขับขี่ อาทิ การอบรมการคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception) ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการทำงานด้านความปลอดภัยของกรมการขนส่งทางบกอย่างต่อเนื่อง
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า การจัดการสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16 เพื่อสานพลังร่วมกับภาคีเครือข่าย สร้างกลไกความปลอดภัยทางถนนให้เข้มแข็ง ซึ่งได้กำหนดเป้าหมาย
1. เกิดข้อเสนอ และกำหนดนโยบาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เช่น กลุ่มเด็ก และเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุด มาตรการสวมหมวกกันน็อก 100% การบังคับใช้กฎหมายดื่มแล้วขับกับการกระทำผิดซ้ำ
2. ติดตามความก้าวหน้า และผลการดำเนินงานตามข้อเสนอนโยบาย โดยเฉพาะความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ในเด็ก และเยาวชน
3. สะท้อนข้อมูล สถานการณ์ องค์ความรู้ ทิศทางนโยบายระดับประเทศ และระดับสากล
4. เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอชุดความรู้ งานวิจัย ผลงานวิชาการ เพื่อให้เกิดการนำไปปรับใช้ และขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ในการร่วมขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน