คนไทยป่วยโรคจากมลพิษทางอากาศกว่า 9.4 ล้านคน เพิ่มมาตรการแก้ฝุ่น PM 2.5
ปี 67 พบผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศกว่า 9.4 ล้านคน สสส.-กทม.-มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย เดินหน้าโครงการสานพลังขับเคลื่อนเคาท์ดาวน์ PM 2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) เข้มมาตรการป้องกัน แก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 67 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย และภาคีเครือข่าย จัดประชุมสรุปการดำเนินงานโครงการสานพลังขับเคลื่อนเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง(หลวง) และพิธีส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ต้นแบบให้กับกรุงเทพมหานคร
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ข้อมูลผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ ล่าสุด เดือน ต.ค. 2567 ของระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) พบว่า ปี 2567 ทั้งประเทศมีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศกว่า 9.4 ล้านคน เพราะฝุ่น PM2.5 สามารถเข้าสู่กระแสเลือดและนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย โดยเฉพาะกับเด็ก ผู้ป่วย และผู้สูงอายุ ที่มีระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง อาจก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด มะเร็งปอด รวมถึงโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองได้ และยังกระทบต่อสุขภาพจิต เกิดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า ส่งผลให้มีการเข้ารับการรักษาที่สูงขึ้น กระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตโดยรวม ดังนั้น การสร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนการดำเนินงานในด้านการจัดการและลดปัญหาฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิด จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อรักษาสุขภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างอากาศสะอาดได้อย่างยังยืน
สสส. ร่วมสนับสนุนโครงการสานพลังขับเคลื่อนเคาท์ดาวน์ PM 2.5 ตั้งแต่ปี 2566 มีหลักการดำเนินงาน
1) พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ (EV Conversion) ที่สามารถช่วยลดปัญหาฝุ่นควันจากภาคการจราจรได้ พร้อมสร้างชุดความรู้และคู่มือการดัดแปลงไปใช้ขยายผลในอนาคต
2) พัฒนาเครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล เพื่อลดการเผาในที่โล่ง
3) พัฒนาแพลตฟอร์ม Open Data รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM.5 ของ กทม.
4) ออกแบบแผนผังการปลูกต้นไม้ ตามนโยบายการปลูกต้นไม้ล้านต้นของ กทม.
5) สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย
6) ส่งเสริมการเดินทางลดฝุ่น
7) จัดประกวดผลงานของนิสิตนักศึกษา (YouTHful Issue)
8) จัดตั้งสภาลมหายใจกรุงเทพมหานคร
เพื่อสะท้อนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากปัญหาเล็กๆ ขยายไปสู่สังคม หรือที่เรียกว่า Snowball effect สามารถนำไปใช้ขยายผลในอนาคตได้
กทม.เข้มมาตรการลดฝุ่น PM 2.5
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า แหล่งที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มาจากภาคการจราจรขนส่งทางบกเป็นหลัก รองลงมาคือการเผาในที่โล่ง กทม. มีแผนลดฝุ่น 365 วัน รวมทั้งแผนบริหารจัดการฝุ่นระยะวิกฤต ซึ่งในปีนี้ได้เพิ่มมาตรการเข้มข้นขึ้น โดยค่าฝุ่นระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 37.6-75 มคก./ลบ.ม. มีแผนจัดการ
1) จัดตั้ง War Room แจ้งเตือนประชาชน
2) พัฒนาแอปพลิเคชัน AirBKK ที่ปรับปรุงให้มีความละเอียดขึ้น พยากรณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำขึ้น
3) เพิ่มความถี่ในการตรวจต้นตอฝุ่นในภาคประชาชน
4) ควบคุมรถมลพิษสูงเข้าพื้นที่ หรือ Low Emission Zone
5) เพิ่มมาตรการห้องเรียนสู้ฝุ่นครบ 437 โรงเรียนแจกหน้ากากอนามัยเชิงรุก
6) จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 50 เขต และเปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ 8 แห่ง
ค่าฝุ่นระดับสีแดงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพตั้งแต่ 75.1 มคก./ลบ.ม. จำนวน 5 เขตขึ้นไป จะมีการออกประกาศเรื่องห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่กรุงเทพชั้นใน (วงแหวนรัชดาภิเษก) โดยจะประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และระยะเวลาการห้าม 3 วัน มีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดไปของประกาศ มี LINE Alert เตือน ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ แจ้งให้หยุดการก่อสร้างในบางพื้นที่ สนับสนุนให้คนมาใช้ BTS/MRT แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว
“อีกทั้งยังมีเครือข่าย Work from Home ที่มีบริษัทร่วมด้วย 100 บริษัท รวม 40,000 คน ซึ่งโครงการสานพลังขับเคลื่อนเคาท์ดาวน์ PM 2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองของ กทม. โดยเฉพาะนวัตกรรมดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion) การลดการเผาในที่โล่ง การเดินทางลดฝุ่น และสภาลมหายใจกรุงเทพฯ จะเข้ามาแก้ปัญหาได้ตรงจุดและคาดว่าจะทำให้ฝุ่นลดลงได้ในระดับหนึ่ง” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ กล่าวว่า โครงการสานพลังขับเคลื่อนเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง(หลวง) เป็นการทำงานแบบเชื่อมโยงความร่วมมือ กับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม สภาลมหายใจกรุงเทพฯ สนับสนุนการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ด้วยการเสริมสร้างการสื่อสาร ผ่านภาคประชาสังคม รวบรวมข้อมูลวิชาการ งานวิจัยต่างๆ เพื่อผลิตเนื้อหาสาระ องค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กระทบต่อสุขภาพคนไทย ให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และเกิดความตระหนัก บนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ พร้อมทั้งมีความคิดเห็นไปในทิศทางที่สอดคล้องใกล้เคียงกัน เห็นพ้องต้องกัน และรัฐบาลสามารถนำไปกำหนดนโยบายได้ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นเมืองที่มีอากาศสะอาดน่าอยู่