สนค. เผยผลสำรวจหนี้สินประชาชนหลังโควิดในเดือน ก.ย. ดีขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเดือนส.ค.66 ทุกอำเภอทั่วประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้สิน พบว่า ดีขึ้นจากการสำรวจครั้งล่าสุดเดือนก.ย.64 ในช่วงโควิด-19 สะท้อนจากสัดส่วนผู้มีหนี้สินลดลง ก่อหนี้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรและการลงทุนเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มปลดหนี้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้มีหนี้ส่วนใหญ่ยังคงได้รับผลกระทบมากจากภาระหนี้สิน และพยายามลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หารายได้เพิ่ม และลดค่าใช้จ่ายประจำ รวมทั้งต้องการให้รัฐลดอัตราดอกเบี้ย พัก/ขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ และสร้าง/ส่งเสริมอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้
“สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยรุนแรงมากขึ้นในช่วงปี 63 – 64 ที่โควิด-19 ระบาด ผลักดันให้หนี้ครัวเรือนของไทยในปี 64 สูงขึ้นจนมีสัดส่วน 94.7% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจไทย ช่วยให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนดีขึ้น จนสัดส่วนลดลงเหลือ 90.6% ต่อจีดีพี และเชื่อมั่นว่า ในปี 66 ยังมีโอกาสลดลงต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจปีนี้ที่มีโอกาสเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมา”
ประกอบกับ ผลสำรวจหนี้ของประชาชนครั้งนี้ ที่พบว่า สถานการณ์ดีขึ้นจากการสำรวจเดือนก.ย.64 โดยผู้มีภาระหนี้สินมีสัดส่วนลดลง เริ่มก่อหนี้เพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาว มีแนวโน้มปลดหนี้เร็วขึ้น และมีการกู้เงินนอกระบบลดลง ขณะเดียวกัน เงินเฟ้อปีนี้ที่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับปี 65 จะช่วยผ่อนคลายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี
รวมถึงมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่เน้นพักหนี้ให้กับกลุ่มเปราะบาง อย่างเกษตรกร และมาตรการแก้ไขหนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ปท.) ที่มีเป้าหมายลดสัดส่วนลงมาอยู่ที่ต่ำกว่า 80% ของจีดีพี รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการลดค่าครองชีพให้ประชาชน จะช่วยให้ครัวเรือนสามารถปลดหนี้ และช่วยสนับสนุนให้หนี้ครัวเรือนคลี่คลายขึ้นในระยะต่อไป
สำหรับรายละเอียดของผลสำรวจ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีหนี้สินนั้น มากถึง 58.18% บอกว่าหนี้ ลดลงจากการสำรวจเดือนก.ย.64 ที่มีหนี้ 62.52% ส่วนเมื่อพิจารณาเป็นรายอาชีพ พบว่า ผู้มีหนี้สินส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มเดิม คือ พนักงานของรัฐ 76.67% เกษตรกร 70.30% และผู้ประกอบการ 65.66% โดยผู้มีหนี้สิน มีทั้งหนี้ในระบบ และนอกระบบ แต่หนี้นอกระบบเริ่มลดลงจากครั้งก่อน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ได้รับกระทบจากภาระหนี้สูง คือ กลุ่มรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ไม่ได้ทำงาน/รับบำนาญ เกษตรกร อาชีพอิสระ ที่มีรายได้ 5,000 – 20,000 บาท/เดือน สำหรับประเภทของแหล่งหนี้สิน 3 อันดับแรก คือ สถาบันการเงิน บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด ส่วนการชำระหนี้ ผู้มีหนี้ส่วนใหญ่ 90% ผ่อนชำระไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน ใกล้เคียงกับการสำรวจครั้งก่อน สาเหตุการก่อหนี้ 3 อันดับแรก มาจากความต้องการซื้อ/ผ่อนสินทรัพย์ถาวร (บ้าน รถ ที่ดิน) ตามด้วย มีค่าใช้จ่ายประจำเพิ่มขึ้น และเพื่อการลงทุน
“ผลกระทบของภาระหนี้สิน ในภาพรวม มีผู้ตอบที่ได้รับผลกระทบน้อยถึงไม่กระทบ 50.71% เพิ่มขึ้นจาก ครั้งก่อนที่มีสัดส่วน 46.57% ขณะที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบมาก 49.29% ลดลงจาก 53.44% ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์หนี้เริ่มดีขึ้น สำหรับแผนการลดภาระหนี้สิน ทางเลือกที่ได้รับความนิยมสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หารายได้เพิ่ม ลดค่าใช้จ่ายประจำ ไม่ก่อหนี้เพิ่ม และมีวินัยทางการเงิน โดยต้องการให้รัฐช่วยลดอัตราดอกเบี้ย พัก/ขยายเวลาผ่อนชำระ และการสร้าง/ส่งเสริมอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้”