สธ. สร้างความเข้าใจผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ให้พร้อมเปิด “มินิธัญญารักษ์” ทั่วประเทศ 1 ธ.ค.นี้
กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดสร้างความเข้าใจการดำเนินงาน “มินิธัญญารักษ์” และการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน แก่ผู้ปฏิบัติงาน ปัจจุบันมีโรงพยาบาลชุมชนประสงค์จัดตั้ง “มินิธัญญารักษ์” 146 แห่ง รองรับผู้ป่วยยาเสพติดได้ 1,957 เตียง เตรียมเปิดพร้อมกันทั่วประเทศ 1 ธันวาคม นี้
วันที่ 30 ต.ค. 66 ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหาร บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข และผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดในพื้นที่ จำนวน 536 คน ร่วมประชุม
นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน โดยยึดหลัก “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ด้วยการพัฒนารูปแบบการเข้ารับบริการที่เชื่อมโยงตั้งแต่ศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้เห็นผลภายใน 100 วัน (Quick win) โดยมีเป้าหมายการดำเนินการ 3 เรื่อง คือ
1.จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดระยะยาวให้ครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลชุมชนที่ประสงค์จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ 146 แห่ง รองรับผู้ป่วยยาเสพติดได้ทั้งสิ้น 1,957 เตียง แบ่งเป็น รูปแบบ Intermediate Care 692 เตียง และ Long Term Care 1,265 เตียง โดยจะเปิดบริการผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในรูปแบบมินิธัญญารักษ์ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 นี้
2.มีหอผู้ป่วยจิตเวชทุกจังหวัด โดยปัจจุบันมีเตียงจิตเวช 7,796 เตียง หอผู้ป่วยจิตเวช (Ward) 69 แห่งใน 58 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 76.32 ของจังหวัดทั่วประเทศ
3.มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอ ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมด 776 แห่ง มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดแล้ว 626 แห่ง (ร้อยละ 80.67) ที่เหลืออีก 150 แห่ง อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเข้าใจในนโยบายการดำเนินงานบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เกิดการพัฒนารูปแบบการดำเนินงาน “มินิธัญญารักษ์” และการบำบัด รักษาผู้ติดยาเสพติด โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Based Treatment : CBTx) ที่ชัดเจนในทุกจังหวัด เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการคุณภาพตั้งแต่ระยะแรก และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างเป็นปกติ