“เนื้อจระเข้” ข้อควรระวังและวิธีเลือก
เพราะช่วงนี้อะไรๆ ก็ขึ้นราคารัวๆ โดยเฉพาะเนื้อหมูที่แพงแสนแพงเป็นเท่าตัวแถมยังขาดตลาดบางจุดอีกด้วย คนหาเช้ากินค่ำก็ลำบากไปตามๆ กันจนเริ่มหันมาบริโภคเนื้ออื่นๆ แทน อย่าง “เนื้อจระเข้” เองก็มีคนหันมารับประทานกันมากขึ้นเพราะราคาถูกกว่ามาก แถมยังมีคุณค่าทางโภชนาการไม่ยิ่งหย่อนเนื้ออื่นๆ โดยเนื้อจระเข้ 100 กรัม มีพลังงาน 99 กิโลแคลอรี โปรตีน 21.5 กรัม ไขมัน 2.9 กรัม และโคเลสเตอรอล 65 มิลลิกรัม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีประโยชน์เสียทีเดียว แม้ว่าเนื้อมันจะกินได้ก็ต้องรู้ข้อควรระวังเสียก่อน
ข้อควรระวังควรรู้ก่อนกินเนื้อจระเข้
แต่เนื่องจากจระเข้จัดอยู่ในประเภทสัตว์เลื้อยคลาน อาจมีแบคทีเรียปนเปื้อน เช่น เชื้อซัลโมเนลลา ทำให้เกิดโรค เช่น ไทฟอยด์ ท้องร่วง และความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร จึงควรล้างมือ และอุปกรณ์ทุกครั้งก่อนแปรรูปเนื้อสัตว์ เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของแบคทีเรีย และปรุงสุกในทุกเมนู งดการกินสุกๆ ดิบๆ
วิธีเลือกซื้อเนื้อจระเข้เพื่อบริโภค
– เนื้อจากส่วนหาง (บ้องตัน) ถือเป็นส่วนที่ดีที่สุด
– เนื้อที่ดีควรสดมีสีทึบ ไม่มีกลิ่นเหม็น
– ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้
– เมื่อต้องจัดเก็บ ควรเก็บในช่องแช่แข็งหรือตู้เย็น โดยตู้เย็นรักษาอุณหภูมิตั้งแต่ 5 ถึง 0 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าจัดเก็บที่อุณหภูมิ -4 ถึง 0 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บได้นานเพิ่มขึ้น หากต้องการเก็บไว้นานกว่านั้นควรช่องแช่แข็งอุณหภูมิตั้งแต่ -12 ถึง -8 องศาเซลเซียส เก็บรักษาได้ 2-4 เดือน ถ้าแช่แข็งตั้งแต่ -24 ถึง -18 องศาเซลเซียส เก็บรักษาได้ 10-12 เดือน
– การแช่แข็งผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้อง เนื้อสดจะต้องถูกตัดเป็นส่วนๆ ห่อด้วยกระดาษฟอยล์ฟิล์มยืดหรือกระดาษพาร์ชเมนท์ เนื้อห่อใส่ถุงแล้วนำไปแช่ตู้เย็น
– ไม่ควรล้างเนื้อสัตว์ก่อนนำไปแช่แข็งเพราะจะทำให้อายุการเก็บสั้นลง
– หากต้องการยืดระยะเวลาออกไปหลายวัน ให้ห่อด้วยกระดาษพาร์ชเมนท์เคลือบด้วยน้ำมันพืช และเมื่อต้องการละลายเนื้อสัตว์นั้น ควรใช้วิธีธรรมชาติเพื่อคงสารอาหารไว้ หลีกเลี่ยงการละลายเนื้อในน้ำเดือดร้อน