“ควันบุหรี่มือสอง” คร่าชีวิตคนไทยปีละ 2 หมื่นราย พบปี 60 กระทบงบประมาณภาครัฐกว่า 7 พันล้านบาท
คนไทย 70% สูดควันบุหรี่มือสอง คร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 20,000 ราย สูญเสียปีสุขภาวะมากกว่า 5 แสนปี เผยปี 60 ส่งผลกระทบงบประมาณภาครัฐ 7,017 ล้านบาท ทั้งต้องเสียค่ารักษาพบาล 8,335 บาท/คน แพทย์ย้ำควันบุหรี่ทุกชนิดมีอันตราย ทำลายสุขภาพทุกระบบ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 พ.ย. 67 ที่โรงแรม VIC 3 Bangkok คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาเรื่อง “ฆาตกรที่มองไม่เห็น: คนไทยตายปีละเท่าไรจากควันบุหรี่มือสอง”
รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยสถานการณ์การได้รับควันบุหรี่มือสองว่า ควันบุหรี่มือสองเป็นภัยใกล้ตัวที่หลายคนอาจมองข้าม ทั้งที่เป็นปัญหาใหญ่เพราะปัจจุบันมีคนไทยที่ไม่ได้สูบบุหรี่มากถึง 34 ล้านคน แต่คนเหล่านี้ได้รับควันบุหรี่มือสองจากคนรอบตัวที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะที่บ้าน ซึ่งอัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองของคนไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้วอยู่ในระดับที่สูงมาก จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2562) พบคนไทย 70% ได้รับควันบุหรี่มือสอง ขณะที่การสำรวจของอังกฤษ ปี 2562 พบคนอังกฤษได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองเพียง 30% ซึ่งน้อยกว่าไทย โดยในไทยผู้หญิงได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองจากที่บ้าน 68% มากกว่าผู้ชายได้รับควันบุหรี่มือสองจากบ้าน 47%
“เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ อีก 57 ประเทศ พบว่าผู้หญิงไทยอายุ 15-49 ปีได้รับควันบุหรี่มือสองสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีหลักฐานงานวิจัยที่ยืนยันแล้วว่าการสูดควันบุหรี่มือสองเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงถึง 1.24 เท่า โดยความเสี่ยงจะเพิ่มตามปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งมะเร็งเต้านมก็เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย” รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว
ด้าน ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า เด็กเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองมากกว่าผู้ใหญ่ ในประเทศไทยพบเด็กอายุ 1- 5 ปี พักอยู่อาศัยในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่สูงถึง 55% โดยในกรุงเทพฯ พบมากที่สุด 62% การที่เด็กรับนิโคตินจากควันบุหรี่มือสองเพิ่มความเสี่ยงก่อโรคมากขึ้น มีงานวิจัยพบบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ พบเด็กในบ้านป่วยฉุกเฉินต้องเข้ารพ.ถึง 67% ต้องนอนรพ.ถึง 32% นอกจากนี้มีการนำเส้นผมของเด็กในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่มาตรวจพบว่ามีปริมาณสารนิโคตินซึ่งเป็นสารพิษในบุหรี่สูงกว่าค่ามาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม ในการศึกษามูลค่าต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากพฤติกรรมสูบบุหรี่ของประชากรในประเทศไทย ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากการได้รับควันบุหรี่มือสองจากบุคคลที่อาศัยในครัวเรือนเดียวกัน ปี 2560 พบว่า ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของยาสูบทั้งหมด 93,962 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.56 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ร้อยละ 15.0 ของมูลค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสุขภาพในประเทศ (CHE) และร้อยละ 88 เป็นจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร มูลค่าประมาณ 1,590 บาทต่อประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งใช้งบการรักษาพยาบาลประมาณ 8,335 บาทต่อนักสูบในปัจจุบัน 1 คน
ส่วนต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของบุหรี่มือสอง 7,017 ล้านบาท (ร้อยละ 7 ของทั้งหมด) กว่าร้อยละ 80 ของต้นทุนดังกล่าว
เกิดกับกลุ่มผู้หญิงที่ไม่เคยสูบบุหรี่แต่อาศัยอยู่กับคนที่สูบบุหรี่ในบ้าน ในทางกลับกันพบว่ารายได้จากภาษียาสูบ 68,589 ล้านบาท (ปี 2560) รายได้ที่นําส่งโดยโรงงานยาสูบ 9,333 ล้านบาท (ปี 2557) รวมทั้งความเจ็บป่วยและการเสียชีวิต จะเห็นว่ามูลค่าความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่น่าจะมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าผลประโยชน์ที่รัฐได้รับอย่างชัดเจน
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า ผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าต่อผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เห็นผลได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ ทั้งต่อระบบหายใจและหัวใจ เช่น เกิดการระคายเคืองและความเสียหายของเยื่อบุทางเดินหายใจ นำไปสู่อาการหืดจับและมีอาการรุนแรงในคนที่เป็นโรคหืดอยู่แล้ว หลอดเลือดเปราะบาง ยืดหยุ่นไม่ดี ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจช้า มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
“แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ แต่การบังคับใช้กฎหมายของเรายังทำได้ไม่ดี โดยคะแนนที่องค์การอนามัยโลกประเมินเราอยู่ที่ 6 คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า และมีการนำมาสูบในที่สาธารณะหรือออกสื่อทั้งที่ผิดกฎหมาย จึงอยากสื่อสารให้รัฐบาลเอาจริงกับเรื่องนี้ เพราะมีบทเรียนจากต่างประเทศแล้วว่าประเทศที่บังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะอย่างจริงจัง สามารถลดความเสี่ยงต่อการได้รับควันบุหรี่มือสองในคนไม่สูบลงได้ ลดความเสี่ยงของประชากรโดยเฉพาะเด็กต่ออันตรายจากควันบุหรี่” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ขณะที่ นายรักษพล สนิทยา นักวิจัยแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ข้อมูลจากรายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ปี 2562 คนไทยเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองสูงถึง 20,688 รายต่อปี โดยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมากที่สุดคือ 9,080 ราย (44%) รองลงมาคือ โรคหัวใจขาดเลือด 4,223 ราย (20%) มะเร็งปอดและหลอดลม 1,972 ราย (9%) และยังมีโรคอื่น ๆ ได้แก่ เบาหวานชนิดที่ 2 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง และมะเร็งเต้านม เมื่อคำนวณภาระโรคจากการได้รับควันบุหรี่มือสองของคนไทย ปี 2562
โดยดูจากค่าการสูญเสียปีสุขภาวะ หรือจำนวนปีที่เสียไปเพราะสุขภาพไม่ดี พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัย พบว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองทำให้คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะถึง 534,186 ปี ข้อมูลการศึกษาภารโรคระดับโลก (Global Burden of Disease: GBD 2019) เปรียบเทียบการสูญเสียปีสุขภาวะทั่วโลก พบว่าภาระโรคจากควันบุหรี่มือสองของไทยอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย (117.1 ปีต่อแสนประชากร) ญี่ปุ่น (221.69 ปีต่อแสนประชากร) และอังกฤษ (154.48 ปีต่อแสนประชากร) เป็นต้น