สธ.ยันโควิดลดลงจริง ติดเชื้อ-ลงทะเบียนรักษา ย้ำอีสานยังระบาดหนัก
วันที่ 2 พ.ค. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า วันนี้ประเทศไทยรายงานผู้ติดเชื้อจาก RT-PCR 9,331 ราย ถือว่าลดลงค่อนข้างมากจากหลายสัปดาห์ก่อนที่รายงานเกือบ 2 หมื่นราย
ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจแนวโน้มลดลงต่อเนื่องแบบช้าๆ ผู้เสียชีวิตวันนี้ 84 ราย ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน หรือรับเข็มเดียว 66% รับ 2 เข็มเกิน 3 เดือน 24% ย้ำว่าวัคซีนลดความรุนแรงของโรคลงได้ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่อายุ 70 ปีขึ้นไป มีโรคเรื้อรังเป็นหลัก จึงจำเป็นที่จะต้องรับวัคซีนให้ครบ 2 เข็มและเข็มกระตุ้น เพื่อให้มั่นใจมากขึ้น มีภูมิคุ้มกันช่วยการดูแลป่วยหนัก โดยภูมิภาคที่มีปัญหาเสียชีวิตมาก คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก
ส่วนรักษาหายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องวันนี้ 2.1 หมื่นราย กำลังรักษาใน HI CI รพ.สนาม 94,900 ราย อยู่ใน รพ.34,168 ราย นอกจากนี้ ยังมีการติดตามสถานการณ์จากข้อมูลอีกชุดของ สปสช. คือ ผู้ติดเชื้อที่เข้าสู่ระบบการรักษาทั้งผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน (OPSI) หรือโทรขอเข้าระบบรักษาที่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นการตรวจ ATK มีการรวมข้อมูล RT-PCR บางส่วน ซึ่งข้อมูลสัปดาห์ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ติดเชื้อเข้าระบบลงทะเบียน 498,578 ราย เฉลี่ย 4-6 หมื่นรายต่อวัน
นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ถามว่าการติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงจริงหรือไม่ ในส่วนของการติดเชื้อ เนื่องจากโอมิครอนส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หลายคนอาจรักษาเองไม่ได้รายงานเข้าระบบ ซึ่งมีจำนวนหนึ่งแต่ไม่เยอะมาก ซึ่งข้อมูลติดเชื้อเข้าระบบลงทะเบียนรักษาสัปดาห์ที่ผ่านมาเกือบ 5 แสนราย ก็ถือว่าลดลงจากเดิม 6-7 แสนราย ก็สะท้อนสถานการณ์จริง แต่ดูรายจังหวัดพบว่า การระบาดยังค่อนข้างมากอยู่แถบภาคอีสาน ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออกลดลงพอสมควร เมื่อเทียบกับหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้
ส่วนการเสียชีวิตนั้นต้องชี้แจงว่าสมัยเดลตาอาการค่อนข้างรุนแรง แม้จะป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ แต่ส่วนใหญ่เสียชีวิตมาจากโควิด แต่โอมิครอนอาการรุนแรงน้อยลง บางคนไม่ค่อยมีอาการ บางคนเจ็บป่วยโรคเรื้อรังอาการหนักแล้วบังเอิญติดโควิด หรือก่อนเสียชีวิตอาจตรวจพบโควิด จึงต้องวินิจฉัยแยกโรคว่า สาเหตุการเสียชีวิตจริงเกิดจากโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ หรือมาจากโควิด ถ้ามาจากโรคเรื้อรังบังเอิญติดโควิดก็คาดว่าเสียชีวิตจากโรคที่เป็นอยู่และติดเชื้อโควิด ซึ่งขณะนี้รายงานยอดเสียชีวิตจากผู้ป่วยติดเชื้อ มีอาการปอดอักเสบจากโควิด และเสียชีวิตเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ยอดติดเชื้อและปอดอักเสบลดลง จะส่งผลใส่ท่อช่วยหายใจลดลงหรือไม่ เนื่องจากผู้ป่วยใส่ท่อใช้เวลารักษานาน หลายคนยังนอน รพ.อยู่ ยังไม่สามารถออกจาก รพ.หรือนำท่อออกได้ ก็ต้องช้าไปอีกสักระยะ ต้องติดตามในอีก 2-4 สัปดาห์
ส่วนเสียชีวิตมีการปรับระบบรายงานเพื่อสอดคล้องในช่วงขาลง จากระยะคงตัวไปสู่ระยะลดลง ต้องปรับให้ชัดขึ้น รายงานเฉพาะเสียชีวิตกรณีติดเชื้อปอดอักเสบจากโควิด เพื่อให้เห็นสถานการณ์ชัดขึ้น นำไปวิเคราะห์สถานการณ์และวางมาตรการอย่างชัดเจนมากขึ้น