ไขข้อข้องใจ “ปวดศีรษะ” แบบไหน นวดได้ หรือนวดไม่ได้
กรมการแพทย์แผนไทยฯเผยข้อแตกต่าง “นวดเพื่อรักษา” และ “นวดเพื่อสุขภาพ” ย้ำ! หากจะนวดรักษาอาการควรไปคลินิก หรือสถานพยาบาล ผู้นวด และผู้รับบริการ ผู้มีโรคประจำตัว เช็คอาการก่อนนวด ปวดหัวเป็น ๆ หาย ๆ ไม่รุนแรงรับบริการนวดได้ หากปวดรุนแรงเฉียบพลัน เห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด ห้ามนวด ต้องพบแพทย์ทันที
นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ความรู้ถึงการนวดไทย ว่า การนวดไทยเป็นกระบวนการดูแลสุขภาพที่มีหลักการและองค์ความรู้ในการนวดตามแนวเส้นประธานสิบ ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวดเมื่อย
สำหรับ ท่านที่มีอาการปวดเมื่อยร่างกายและต้องการจะนวด ถ้าเป็นร้านนวดเพื่อสุขภาพ จะนวดเพื่อผ่อนคลาย/นวดเพื่อสุขภาพ และจบหลักสูตรนวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง กลุ่มนี้จะไม่มีการบิด ดัด
แต่ถ้ามีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง แขน และขา อาการมากกว่าปวดเมื่อย ผู้รับบริการควรไปคลินิกแพทย์แผนไทย ที่มีแพทย์แผนไทยตรวจวินิจฉัยก่อนจะลงนวด ซึ่งเป็นหลักสูตรการนวดเพื่อการรักษาที่มีการเรียนการสอน ตั้งแต่ 330 ชั่วโมง 372 ชั่วโมง 800 ชั่วโมง และ 1,300 ชั่วโมง วัตถุประสงค์เพื่อบำบัดรักษาแต่ละกลุ่มอาการ เช่น กลุ่มปวดกล้ามเนื้อ นิ้วล็อก หัวไหล่ติด อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
ไขข้อข้องใจ ปวดหัว นวดได้หรือไม่
นพ.สมฤกษ์ อธิบายต่อว่า กรณีการปวดศีรษะ สามารถนวดได้หรือไม่นั้น ทั้งผู้ให้บริการนวด และ ผู้รับบริการนวด สามารถสังเกตได้ โดยแบ่งอาการปวดหัวเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 กลุ่มปวดหัวไม่รุนแรง ปวดเป็น ๆ หาย ๆ ช่วงหายจะหายสนิท เช่น อาการไมเกรน กล้ามเนื้อตึงตัว (Tension – type Headache ) , ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster Headache) ,ปวดในกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) กลุ่มนี้สามารถรับบริการนวดได้ตามหลักสูตรและกระบวนการที่กำหนด โดยต้องทำการนวดที่คลินิกแพทย์แผนไทย หรือสถานพยาบาลที่มีแพทย์แผนไทยและผู้ช่วยแพทย์แผนไทยเป็นผู้ให้บริการ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและชำนาญในด้านนี้
กลุ่มที่ 2 ปวดหัวรุนแรงเฉียบพลัน หากปวดหัวค่อนข้างเร็วและปวดรุนแรง มีอาการอ่อนแรง เห็นภาพซ้อน หูอื้อ พูดไม่ชัด ให้มองว่าเป็นอันตรายและไม่ควรนวดโดยเด็ดขาด หรือแม้แต่ ความดันโลหิตสูง และมีอาการปวดหัว ก็ไม่ควรนวด ทั้งนี้หากมีอาการปวดหัวเฉียบพลัน รุนแรง ควรพบแพทย์และงดเว้นการนวดโดยเด็ดขาด
แต่ทั้งนี้ การนวดมีประโยชน์ในหลายระบบของร่างกาย เช่น ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ การนวดทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย บรรเทาอาการขัดยอก ลดอาการเจ็บปวด ลดการเป็นตะคริวขณะออกกำลังกาย ระบบผิวหนัง และระบบไหลเวียนเลือด ทำให้การไหลเวียนเลือดบริเวณผิวหนังดีขึ้น ช่วยลดอาการบวม ระบบทางเดินอาหาร ช่วยลดอาการท้องอืด เฟ้อ ช่วยระบบขับถ่ายให้เป็นปกติ ช่วยกระตุ้นการย่อยอาหาร ระบบการไหลเวียนเลือด นอกจากนี้การนวดยังส่งผลด้านจิตใจ ให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดและลดความวิตกกังวลได้ด้วย
นพ.สมฤกษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ให้บริการและผู้รับบริการนวดหากมีความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง จะช่วยส่งเสริมคุณค่าการนวดไทย ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ยกระดับการดูแลสุขภาพของคนไทยและ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้