ตั้งเป้าเพิ่มผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องใช้เครื่อง APD รายใหม่ปีละ 5 พันราย
สปสช.วางยุทธศาสตร์บำบัดทดแทนไต ดูแล “ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบบัตรทอง” ตั้งเป้าจำนวนผู้ป่วยที่ใช้เครื่อง APD รายใหม่ปีละ 3,000-5,000 ราย ชี้ข้อดี สะดวกมากกว่า ทำในช่วงเวลานอน เหมาะกับเด็กนักเรียนและวัยทำงาน
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 68 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคไตในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2568 ว่า ภาพรวมของผู้ป่วยโรคไตในประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในปี 2567 มีผู้ป่วยที่ต้องทำการบำบัดทดแทนไตรวมทุกวิธีทั้งสิ้นจำนวน 88,000 ราย
หากไม่มีมาตรการช่วยชะลอการเสื่อมของไต ในอีก 10 ปีข้างหน้าจากนี้ จำนวนผู้ป่วยที่ต้องบำบัดทดแทนไตจะเพิ่มเป็น 2.78 แสนราย ดังนั้น ในปี 2568 เป็นต้นไป สปสช. ได้วางยุทธศาสตร์การบำบัดทดแทนไตไปที่การล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) ให้มากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ หรือ APD ให้มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ สาเหตุของไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ร้อยละ 60-70 เกิดจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันชะลอความเสื่อมของไต เช่น การควบคุมอาหาร ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการตรวจเช็คความเค็มของอาหาร หรือทานยาบางกลุ่มเพื่อรักษาโรคเบาหวาน แต่เมื่อเข้าสู่ภาวะไตเสื่อมแล้ว ก็จะมีเทคโนโลยีการรักษาต่างๆ ที่ชะลอการเข้าสู่ระยะสุดท้าย
อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้วก็จะมีวิธีการบำบัดทดแทนไต ทั้งการปลูกถ่ายไต การล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) และปัจจุบันยังมีการใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD) ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเด่นต่างกันไป เช่น การล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) ต้องเปลี่ยนน้ำยาล้างไตทุก 6 ชั่วโมง จึงเป็นภาระทำให้การใช้ชีวิตประจำวันไม่ค่อยสะดวก แต่มีข้อดีคือมีอัตราการแลกเปลี่ยนของเสียออกจากร่างกายและขับน้ำส่วนเกินได้ดี
ส่วน APD เป็นการใช้เครื่องอัตโนมัติล้างไตต่อเนื่อง 8-10 ชม. โดยทำในช่วงเวลานอน แต่อาจจะขับของเสียและขับน้ำสวนเกินได้น้อยกว่า CAPD เล็กน้อย แต่มีความสะดวกมากกว่า เมื่อตื่นแล้วสามารถออกไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติในเวลากลางวัน ซึ่งเหมาะกับเด็กนักเรียนและวัยทำงาน
สปสช. มียุทธศาสตร์ในการสนับสนุนให้บำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางหน้าท้อง หรือ PD first รวมทั้ง CAPD และ APD ตามคำแนะนำของอายุรแพทย์โรคไตและพยาบาลโรคไต ไม่ว่าจะเรียนหนังสือหรือทำงาน สำหรับการล้างไตด้วยวิธี APD จากเดิม 2-3 ปีก่อนมีแค่ 200-300 ราย แต่ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ใช้เครื่อง APD ประมาณ 5,000 ราย ผู้ป่วยยังบอกว่ารู้สึกสะดวกสบาย ได้ออกไปใช้ชีวิต การใช้ชีวิตราบเรียบมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาไปฟอกเลือดและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่ม เช่น ค่าน้ำมันรถเดินทาง ที่สำคัญคือสามารถหารือได้ช่วยเหลือเศรษฐกิจในครัวเรือน
นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า ในอดีตเครื่อง APD มีราคาแพงมากและผู้ป่วยต้องจ่ายค่าเครื่องประมาณ 2 แสนบาทต่อเครื่อง แต่ปัจจุบัน สปสช. นำเครื่อง APD มาอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ซึ่งหลังจากนี้เป็นต้นไป สปสช. ตั้งเป้าไว้ว่า จะมีผู้ป่วยที่ใช้เครื่อง APD เพิ่มขึ้นปีละ 3,000 – 5,000 ราย โดยมีการวางแผนเตรียมน้ำยาล้างไตและเครื่อง APD ไว้รองรับแล้ว
“แม้ สปสช. จะจัดสิทธิประโยชน์บำบัดทดแทนไตที่ครอบคลุมหลายวิธี และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายครัวเรือนลงได้มาก แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพ และการควบคุมโรคสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หมั่นออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร และเมื่อไตเสื่อมแล้ว ก็ต้องหลีกเลี่ยงไม่เอาของเสียมาใส่ในร่างกาย ถ้าทำได้ท่านจะห่างไกลจากการเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย” นพ.จเด็จ กล่าว