อาหารกับธาตุเจ้าเรือน ใครเกิดเดือนไหน ต้องดูแลสุขภาพอย่างไร มีคำตอบ..
สธ.แนะดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์แพทย์แผนไทย เนื่องในวันอนามัยโลก (World Health Day) มี 3 องค์ประกอบ ตามหลักธรรมานามัย “กายานามัย จิตตานามัย และ ชีวิตานามัย” รวมถึงส่งเสริมสุขภาพตามธาตุเจ้าเรือน “ ดิน น้ำ ลม ไฟ”
หลักธรรมานามัย
นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 7 เมษายน ของทุกปี เป็นวันอนามัยโลก (World Health Day) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค โดยเน้น การดูแลสุขภาพเชิงส่งเสริม การป้องกัน การรักษาและการฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยการแพทย์แผนไทยแบบองค์รวม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพขององค์การสหประชาชาติ การใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยสามารถทำได้โดยใช้ศาสตร์องค์รวม หรือ หลักธรรมานามัย ประกอบด้วยการดูแลสุขภาพ 3 องค์ประกอบ ดังนี้
1. กายานามัย คือ การมีสุขภาพกายที่ดี โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์การออกกำลังกาย เช่น การบริหารร่างกายแบบไทยด้วยท่าฤๅษีดัดตน การเล่นโยคะ หรือกิจกรรมกีฬาที่เหมาะสม
2. จิตตานามัย คือ การมีสุขภาพใจที่ดี การส่งเสริมและดูแลสุขภาพทางใจ เช่น การทำสมาธิ สวดมนต์และภาวนา ซึ่งช่วยให้จิตใจ เกิดความสงบ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด
3. ชีวิตานามัย คือ มีพฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวันที่ดี เช่น การอยู่ในสถานที่ที่สะอาด ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่
อาหาร สมุนไพร กับธาตุเจ้าเรือน
ดร.รัชนี จันทร์เกษ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งเสริมสุขภาพของตนเอง ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ซึ่งศาสตร์การแพทย์แผนไทยแบ่งธาตุเจ้าเรือนของคนเราเป็น 4 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ หากจะดูแลสุขภาพในเบื้องต้น เราจะนำมาใช้ในการปรับธาตุเพื่อให้ร่างกายเกิดความสมดุล เป็นการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วย ดังนี้
ธาตุดิน ได้แก่ ผู้ที่เกิดช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม มักมีร่างกายแข็งแรงไม่ค่อยเจ็บป่วย ยกเว้นผู้ที่ มีโรคทางพันธุกรรม คนกลุ่มนี้สามารถรับประทานอาหารได้ทุกรส เช่น ฝาด หวาน มัน เค็ม แต่ก็ให้รับประทานแต่พอดี
ธาตุน้ำ คือ ผู้ที่เกิดในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน จุดอ่อนด้านสุขภาพ คือ มักเจ็บป่วยด้วยหวัด เจ็บคอ และ มีเสมหะได้ง่าย ควรปรับสมดุลธาตุด้วยการเน้นรับประทานสมุนไพรรสเปรี้ยวและรสขม โดยสมุนไพรรสเปรี้ยว ช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ ช่วยระบายท้อง เช่น ยอดมะขาม, มะนาว, ผักติ้ว ส่วนสมุนไพร รสขมช่วยลดไข้ เช่น มะเขือพวง, ฝักเพกา, ดอกขี้เหล็ก, สะเดา
ธาตุลม คือ ผู้ที่เกิดในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน มีจุดอ่อนด้านสุขภาพ คือ ท้องอืด ท้องเฟ้อ วิงเวียนศีรษะ และ ปวดเมื่อยได้ง่าย ควรปรับสมดุลธาตุด้วยการเน้นรับประทานสมุนไพรรสเผ็ดร้อน เพราะช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ กระตุ้นเลือดลม ให้ไหลเวียน เช่น ข่า, ตะไคร้, แมงลัก, กะเพรา,
ธาตุไฟ คือ ผู้ที่เกิดในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม มีจุดอ่อน ด้านสุขภาพ คือ มักเป็นไข้ตัวร้อน เป็นแผลร้อนใน เป็นสิว ผิวหนังอักเสบ นอนไม่ค่อยหลับ อารมณ์แปรปรวน ควรปรับสมดุลธาตุด้วยการเน้นรับประทานอาหารที่มีสมุนไพรรสขม จืด เย็น จะช่วยแก้ไข้ ลดความร้อนภายในร่างกาย ช่วยให้นอนหลับสบาย และลดการอักเสบของผิวหนัง เช่น มะระ, ขี้เหล็ก, สะเดา, ฟัก, แฟง, ตำลึง, ผักบุ้ง, แตงกวา เป็นต้น
รวมถึง การออกกำลังกายตามศาสตร์ไทย เช่น ฤๅษีดัดตน ช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดเมื่อย การนวดไทย ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ก็จะช่วยให้ท่านห่างไกลโรค เนื่องในวันอนามัยโลก (World Health Day)
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย หรือการใช้ยาสมุนไพร สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์แผนไทย ในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ หรือติดต่อโดยตรงที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือ ช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊กhttps://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line @DTAM