หมอรพ.จุฬาภรณ์ เตือนดื่ม เหล้าเบียร์ สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า อีกปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
แพทย์ รพ.จุฬาภรณ์ เผยมะเร็งลำไส้ใหญ่พบสูงขึ้น ผู้ป่วยรายใหม่ปีละกว่า 2 หมื่นราย เสียชีวิตปีละ 1 หมื่นคน ชี้กลุ่มสูงอายุ อีกปัจจัยพบโรค แต่กลับคัดกรองน้อยมากเพียง 5 แสนคนต่อปี เจอผลบวก 4-5 หมื่นคน กลุ่มเจน Y กลุ่มเสี่ยงจากไลฟ์สไตล์การกินไม่เหมาะสมตั้งแต่วัยรุ่น ต้องหันมาดูแลสุขภาพ รวมถึงวัยรุ่นเจนอัลฟา ต้องรณรงค์หันมาดูแลสุขภาพ เลี่ยงดื่มเหล้าเบียร์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า สารอันตรายทำร้ายร่างกาย และเสี่ยงก่อมะเร็ง
นพ.วรวัฒน์ แสงวิภาสนภาพร หัวหน้างานอายุรกรรมทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้ความรู้ในงานเสวนา “รู้จัก รู้ทัน ป้องกัน มะเร็งลำไส้ใหญ่” ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ว่า จริงๆ มะเร็งลำไส้ใหญ่ป้องกันได้ด้วยการคัดกรอง แต่บางคนไม่ทราบว่าต้องคัดกรอง บางคนรอจนมีอาการ เช่น ถ่ายเป็นเลือด หรือลำไส้อุดตันแล้ว มีอาการปวดท้อง ทำให้เจอกลุ่มมะเร็งลำไส้ใหญ่ช้ากว่าปกติ ทำให้การหายขาดน้อยลงไปด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าไทยกำลังมีประชากรผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มอายุ 50-70 ปีมาจำนวนมาก แต่กลับคัดกรองโรคนี้ได้แค่ 5 แสนคนต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยการคัดกรองจะตรวจด้วยอุจจาระดูว่ามีเลือดหรือไม่ และในกลุ่มนี้จะเจอกลุ่มที่มีผลบวกประมาณ 4-5 หมื่นคน แต่สิ่งสำคัญเมื่อเจอแล้ว แต่ไม่สามารถส่องกล้องได้ การคัดกรองต่อเนื่องทำได้เพียง 4 พันคนต่อปี สิ่งสำคัญ หากตรวจเจอเบื้องต้นต้องรีบไปส่องกล้อง ซึ่งหากส่องกล้องและพบเนื้องอกจะตัดออกได้ทันที
“การส่องกล้องหากพบเนื้องอกระยะที่ 1 ซึ่งยังไม่ลุกลาม เมื่อตัดออกก็จะหายขาดได้” นพ.วรวัฒน์ กล่าว
มะเร็งลำไส้ใหญ่แนวโน้มสูงทั่วโลกและไทย
นพ.วรวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 3 ของโลก คิดเป็นประมาณ 10% ของผู้ป่วยมะเร็งใหม่ทั้งหมด และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 จากโรคมะเร็งทั่วโลก ข้อมูลสถิติล่าสุด (Globocan 2022) ระบุว่าในปี 2022 มีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่ประมาณ 1.93 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 904,000 คน ซึ่งคิดเป็น 9% ของการตายด้วยโรคมะเร็งทั้งหมด โดยในแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดขึ้นใหม่เกือบ 2 ล้านรายทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตเกือบหนึ่งล้านรายจากโรคนี้ ซึ่งสะท้อนภาวะโรคที่สูงมากในระดับนานาชาติ
สำหรับประเทศไทย มะเร็งลำไส้ใหญ่ถือเป็นปัญหาสำคัญที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามสถิติ Globocan ปี 2022 ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่ประมาณ 20,173 คน ภายในปีเดียว คิดเป็นประมาณ 11% ของผู้ป่วยมะเร็งใหม่ทั้งหมดในประเทศ และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 10,158 คน ในปีเดียวกัน คิดเป็นประมาณ 8.5% ของการตายด้วยโรคมะเร็งทั้งหมด มะเร็งลำไส้ใหญ่จัดว่าเป็นมะเร็งที่พบบ่อย อันดับ 3 ในประชากรไทย รองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอดสำหรับทั้งสองเพศรวมกัน และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็ง อันดับ 3 ของประเทศเช่นกัน
“มะเร็งชนิดนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 10 ของทั้งจำนวนผู้ป่วยมะเร็งและผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งในไทย นอกจากนี้ พบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งเพียงชนิดเดียวที่มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นในทั้งผู้ชายและผู้หญิงของไทย ในแง่การพบโรคมากในภูมิภาคไหนของไทยนั้น ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขชัดเจน แต่มีในกลุ่มเสี่ยงคือ อายุ 45-50 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มอายุเสี่ยง และปัจจัยครอบครัวที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ไลฟ์สไตล์ การรับประทาน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่” นพ.วรวัฒน์ กล่าว
เจน Y อีกกลุ่มเสี่ยงต้องระวัง
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มเจนเนอร์เรชันวาย หรือ เจนY ถือเป็นกลุ่มต้องระวังหรือไม่ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนทำงานและอาจมีพฤติกรรมการรับประทานที่สะสมมานานตั้งแต่เด็กและวัยรุ่น นพ.วรวัฒน์ กล่าวว่า กลุ่มนี้ จัดเป็นกลุ่มที่กำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่วัยชรา จึงต้องแนะนำให้ลด ละ เลิก พฤติกรรมที่จะเอื้อไปสู่มะเร็งลำไส้ เช่น รูปแบบการรับประทาน ปัจจุบันอาหารแปรรูปเยอะ ก็เป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงเช่นกัน จึงอาจต้องหันมาทานผักผลไม้ ไฟเบอร์มากขึ้น กินเนื้อแดง เนื้อแปรรูปให้น้อยลง และเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
รณรงค์กลุ่มอัลฟา ไม่ดื่มเหล้าเบียร์/ไม่สูบบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า
เมื่อถามว่าแสดงว่าต้องรณรงค์การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน ลดอาหารแปรรูป ในกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มเจนอัลฟา (Gen Alpha) ด้วยหรือไม่ นพ.วรวัฒน์ กล่าวว่า จริงๆปัจจัยเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ใช่แค่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง แต่ต้องร่วมกันทั้งหมด จึงต้องส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพ การรับประทานอาหารเหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ถามต่ออีกว่าเพราะอะไร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่จึงเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ นพ.วรวัฒน์ กล่าวว่า เรามีการศึกษา ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงแค่มะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิด ไม่ใช่แค่ทางเดินอาหาร แต่หลอดอาหาร กล่องเสียง หรือมะเร็งตับ ยังมีมะเร็งหลายชนิดที่เป็นผลต่อเนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระยะยาว เนื่องจากพวกนี้ทำให้เกิดการอักเสบ และสุดท้ายเป็นสารพิษที่สะสมอยู่ในร่างกาย เวลาร่างกายได้รับสารพิษก็จะมีการขับออก แต่หากอายุมากขึ้น หรือขับออกไม่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้ก็จะกระตุ้นการอักเสบในร่างกาย และเมื่ออักเสบมากๆ เนื้อเยื่อก็ถูกทำลายและมีกระบวนการต่อเนื่องจนก่อความเสี่ยงเกิดเป็นมะเร็งในอนาคต
“ไม่ใช่แค่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าก็เช่นกัน อย่างบุหรี่ไฟฟ้า มีน้ำมันดิน สารอันตรายต่างๆ ที่ไม่ส่งผลดีต่อร่างกาย และยังเอื้อต่อความเสี่ยงเกิดมะเร็งในอนาคต” หัวหน้างานอายุรกรรมทางเดินอาหารและตับ รพ.จุฬาภรณ์กล่าว