สธ.แจงยิบ! “หมออินเทิร์น” รพ.บึงกาฬ เหลือ 8 คน ไม่ได้ลาออกทั้งระบบ! ชงบริหารพื้นที่พิเศษเหมือนชายแดนใต้
– ผู้ตรวจราชการฯ เขตสุขภาพที่ 8 เผยปัญหาบึงกาฬขาดแคลนหมอ ทั้ง “อินเทิร์น-สตาฟ” บริบทไม่เหมือนที่อื่น
– หมออินเทิร์น ส่วนใหญ่จบ กสพท. ไม่มีโครงการ CPIRD เป็นคนต่างถิ่น เมื่อจับสลากลงบึงกาฬ อยู่ไม่นานก็ลาออก ขาดแรงจูงใจ ต้องการกลับภูมิลำเนา
– ส่วนกรณีข่าวล่าสุดอินเทิร์น ลาออกทั้งระบบ! ไม่เป็นความจริง
– วางแนวทางหมุนเวียนแพทย์จากจังหวัดอื่นมาช่วย โต้ปม “หมอสตาฟ” ขอย้าย ไม่ใช่ลาออก
– เสนอปลัดสธ.จัดรูปแบบบริหารพื้นที่พิเศษเหมือนชายแดนใต้ จูงใจเติมหมอในระบบ ทั้ง “อินเทิร์น-สตาฟ”
ตามที่มีกระแสข่าวถึงการลาออกของหมออินเทิร์นปี1 หรือแพทย์จบใหม่ที่ไปฝึกปฏิบัติในโรงพยาบาลของจังหวัดบึงกาฬ ได้ 1 ปี และลาออกกันทั้งระบบของภาครัฐ ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร กระทั่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ ไปตรวจสอบและหาแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้น ขณะที่รพ.บึงกาฬโพสต์ชี้แจงผ่านเฟชบุ๊กว่า ไม่เป็นความจริง มีหมออินเทิร์น ประสงค์ลาออก 6 คนเพื่อกลับภูมิลำเนาตามที่มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
สาเหตุปัญหาบึงกาฬขาดแคลนหมอ
ล่าสุดวันที่ 13 เม.ย. 68 นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 ให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจสอบประเด็นดังกล่าว ว่า ข่าวที่ออกมากลายเป็นดรามาเกินจริง เพราะจากการตรวจสอบไม่ได้ลาออกทั้งระบบ เรื่องนี้ต้องเข้าใจบริบทของจังหวัดบึงกาฬก่อนว่า มีลักษณะปัญหาเดิมๆ คือ เด็กส่วนใหญ่ที่ไปเป็นอินเทิร์น จบมาจากคณะแพทยศาสตร์ของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ กสพท. ซึ่งไม่ใช่กลุ่มที่จบจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD)
“ดังนั้น ทุกปีจะไม่ค่อยมีเด็กในโครงการ CPIRD จึงทำให้เป็นจังหวัดที่ต้องได้รับการจัดสรรแพทย์จาก กสพท.เป็นส่วนใหญ่ เมื่อเด็กส่วนกลางหรือที่อื่นจับสลากและไปลงที่จ.บึงกาฬ ซึ่งเป็นตัวเลือกท้ายๆก่อนสามจังหวัดชายแดนใต้ก็ว่าได้ จึงเป็นปัญหาทุกปีที่หมออินเทิร์นมาอยู่แล้วลาออกตลอด เพราะไม่ใช่หรือไม่ใกล้กับภูมิลำเนาตัวเอง เพียงแต่ว่า ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข แก้ปัญหามาตลอดทุกปี ” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว
แจงรายละเอียด หมออินเทิร์น เหลือ 8 คน
ปัจจุบันจังหวัดบึงกาฬ มีโรงพยาบาลจังหวัด 1 แห่ง 200 กว่าเตียง เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก และมีโรงพยาบาลชุมชนประมาณ 7 แห่ง ซึ่งในปี 2567 อย่างเขตสุขภาพที่ 8 มี 7 จังหวัด โดยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เห็นความสำคัญและปัญหาของพื้นที่ โดย 2 ปีแล้วที่ให้สัดส่วนจำนวนแพทย์อินเทิร์น แบบเต็มความสามารถของแพทย์ผู้ฝึก หรือสตาฟ ตามข้อกำหนดของแพทยสภา อย่างปีที่แล้ว 254 คน และปีนี้ให้ 246 คน ซึ่งทั้งเขตสุขภาพก็มีแพทย์อินเทิร์น 1 ลาออกเช่นกัน เพราะหากเป็นกลุ่ม กสพท.ก็มักจะออกเนื่องจากมาจากต่างถิ่น และต้องการไปเป็นลูกจ้างของโรงพยาบาล กทม.
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า ปีที่ผ่านมาได้แพทย์อินเทิร์น มาที่จ.บึงกาฬ 16 คน โดยในจำนวนนี้ที่อยู่ รพ.บึงกาฬ และต้องฝึก 9 เดือน และอีก 3 เดือนไปอยู่ รพ.ชุมชน ใน 16 คน ณ ตอนนี้แสดงความจำนงขอลาออกไป 10 คน ก็จะเหลือ 6 คนที่จะอยู่ทำงานปีที่ 2 ต่อ ซึ่งน้องที่เหลือ 6 คนเป็นเด็กจาก กสพท.จากส่วนกลาง แต่น้องยังอยากทำงานที่นี่อยู่
นอกจากนี้ ยังมีเด็กที่วางแผนว่า ปี 2 และปีที่ 3 จะให้มาอยู่บึงกาฬ มีอีก 5 คน ซึ่งฝากฝึกไว้ที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี เนื่องจากรพ.บึงกาฬ รับฝึกเด็กได้มากที่สุดคือ 16 คน จึงจำเป็นต้องฝากฝึกไว้ที่รพ.ศูนย์อุดรธานี เมื่อครบ 1 ปีก็จะต้องกลับมาอยู่รพ.ชุมชนในบึงกาฬ
“ในจำนวน 5 คนที่เราส่งฝึกรพ.ศูนย์อุดรฯ มีลาออก 3 คน แสดงว่าเหลือน้อง 2 คน ที่จะกลับมารพ.ชุมชนในปีที่สอง ดังนั้น ในปีที่สอง จะมีน้องอินเทิร์นมาอยู่ 8 คน คือ 6 คนจากรพ.บึงกาฬ และ 2 คนจากรพ.ศูนย์อุดรฯ จะเหลือน้องอินเทิร์น 8 คนที่จะอยู่ใน รพ.ชุมชนที่จ.บึงกาฬ” นพ.ณัฐพงศ์กล่าว
ดึงหมออินเทิร์นปี 2 และ 3 จังหวัดอื่นมาช่วย
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า ในรพ.ชุมชน ที่มีแพทย์ทั่วไป และผู้อำนวยการรพ. จะมีอยู่24 คน แพทย์เฉพาะทางอีก7 คนใน 7 อำเภอ ซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เพียงพอแน่นอน ดังนั้น จึงวางแผนว่า ในช่วงที่หมออินเทิร์นจะมาใหม่ในปีแรก ช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งทางกระทรวงฯ จัดสัดส่วนหมออินเทิร์นเติมเข้ามาในจังหวัดเต็มตามข้อกำหนดของแพทยสภา คือ 16 คน ซึ่งจะอยู่ที่รพ.จังหวัด แต่บางส่วนก็ต้องออกรพ.ชุมชนด้วย แต่ช่วงแรก เพิ่งฝึกฝนยังไม่สามารถออกได้ จึงให้ทั้งหมดที่มาอยู่รพ.จังหวัดในช่วง 2 เดือนแรก และสธ. จะหาหมออินเทิร์นปีที่ 2 และ 3 ที่มีความสามารถมากขึ้นภายในเขตสุขภาพที่ 8 จากจังหวัดอื่น มาหมุนเวียนเพื่อช่วยบึงกาฬจำนวน 9 คน
“ หมอที่มาช่วยก็เพื่อรอหมออินเทิร์น 16 คน ที่กำลังฝึกอยู่ โดยหมออินเทิร์น 3 เดือนต้องไปอยู่รพ.ชุมชน ประมาณ 1 ใน 4 แสดงว่าต้องอยู่รพ.บึงกาฬครั้งละ 12 คน ข้างนอก 4 คน จริงๆก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องจัดแพทย์จากปี 2 และปี 3 จากจังหวัดใกล้เคียงมาช่วย รพ.บึงกาฬ คือ มาประจำวอร์ด 5 วอร์ด คือ ‘สู ศัลย์ เมด เด็ก’ หากต้องอยู่วอร์ดละ 2 คน แสดงว่า 1 เดือนต้องการน้องหมอถึง 10 คน เป็นแพทย์ใช้ทุนปี2 ปี 3 จากจังหวัดอื่นภายในเขตสุขภาพที่ 8 โดยให้มาอยู่คนละเดือน คิดว่าสามารถทำได้ เพราะมีน้องหมอปี 2 และปี 3 ในจังหวัดอื่นอีกประมาณ 200 คน” ผู้ตรวจฯ กล่าว
ชูแนวทางแก้ปัญหาระยะ 3-5 ปี
ผู้สื่อข่าวถามว่า แพทย์จากจังหวัดอื่นจะยอมมาหรือไม่ นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า มีการสื่อสารทำความเข้าใจเรื่องนี้ และมีแนวทางพิจารณาให้ทุนเร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังทำเรื่องขอปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาให้จังหวัดบึงกาฬ เหมือนสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นพื้นที่พิเศษ ถ้าใครมาช่วยงานพิเศษจะมีโอกาสรับทุนการศึกษาเร็วขึ้น โดยขอเป็นการบริหารพื้นที่พิเศษ
“เบื้องต้นท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยว่ามีความเป็นไปได้ หากผ่านขั้นตอนการพิจารณา ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสมากขึ้น อย่างหากน้องหมอมาช่วย 1 ปีก็มีโอกาสรับทุนเร็วขึ้น เพื่อไปศึกษาต่อด้าน ‘สู ศัลย์ เมด เด็ก’ คือ สูตินรีเวช ศัลยกรรม เมดคือ เมดิซีนหรืออายุรกรรม และกุมารเวช และหากอยู่ 2 ปีมีโอกาสไปเรียนสาขารอง ดังนั้น น้องที่มาเวียนช่วยคนละ 1 เดือน จะมีการบันทึกประวัติไว้” ผู้ตรวจฯ กล่าว
เมื่อถามว่าค่าตอบแทนจะได้รับเพิ่มด้วยหรือไม่ หากมีการกำหนดให้แพทย์ที่ปฏิบัติงานในจ.บึงกาฬเป็นพื้นที่พิเศษ นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ยื่นเสนอขอไปเหมือนทางสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่จะได้เท่าไหร่ต้องรอการอนุมัติ เพราะยังไม่ทราบว่าจะอนุมัติข้อไหนบ้าง แต่ก็เป็นอีกแนวทางที่คาดว่าจะแก้ปัญหาได้ในระยะ 3-5 ปี
ปัญหาขาดแคลนหมอ สวนทางจำนวนประชากร
ถามต่อว่าจ.บึงกาฬ มีปัญหากำลังคนด้านแพทย์มานานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจังหวัดหรือไม่ นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ใช่ เพราะเป็นจังหวัดที่เพิ่มตั้งมาราว 20 ปี เริ่มต้นจากรพ.อำเภอ ค่อยๆโตขึ้นมา ทำให้ยังขาดแคลนทรัพยากร แม้จะเติบโตขึ้น แต่ด้วยที่มีอาจารย์ผู้สอนแพทย์ หรือสตาฟน้อย ความสามารถในการรับอินเทิร์นก็น้อยไปด้วย แต่ประชากรมีค่อนข้างมากเกือบ 5 แสนคน
อีกทั้ง เด็กในจังหวัดตัวเองที่อยู่ในโครงการ CPIRD แทบไม่มีเลย ทำให้สู้เด็กจังหวัดอื่นได้น้อยด้วย และด้วยสตาฟน้อย เด็กที่จะมาเลือกอยู่ที่บึงกาฬ ก็มองว่า อาจไม่ค่อยได้เรียน ซึ่งเป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ
หมอสตาฟ ขอย้ายตลอด เหตุไม่ใช่ภูมิลำเนา
“อย่างเรื่องสตาฟ ทางเขตก็พยายามจัดสรรตำแหน่งสตาฟมากขึ้น ให้ทุนทุกปี แต่สตาฟ เมื่อไม่ใช่บ้านเขา ก็อยู่ไม่นาน อยู่ 2 ปีก็มี เมื่อจบเฉพาะทางก็ย้ายกลับบ้าน”นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามกรณีมีกระแสออกมาในบึงกาฬว่า สตาฟ จะมีการลาออกในเร็วๆนี้ นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า สตาฟที่อยู่ในจังหวัดมี 27 คน เป็นแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งการลาออกไม่ใช่เพราะกรณีนี้ แต่สตาฟลาออกเพราะต้องการกลับภูมิลำเนา คือ อยู่ 3 ปี 4 ปีก็จะขอย้ายกลับ เห็นได้ว่า คนที่อยู่บึงกาฬ จะเป็นคนต่างถิ่นแทบทั้งหมด ดังนั้น จึงเป็นที่มาที่ตนได้เสนอขอทางปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในการบริหารจ.บึงกาฬ ให้เป็นพื้นที่พิเศษ เหมือนสามจังหวัดชายแดนใต้
ซึ่งหากทำได้จริงก็จะช่วยจูงใจ หมออินเทิร์น มาอยู่ในจ.บึงกาฬได้ไม่ขาด และเมื่ออยู่นานขึ้นถึงปี 2 และปี 3 ยังสามารถได้ทุนเรียนสาขารองได้ด้วย และเมื่อจบไปเป็นสตาฟก็จะได้ค่าตอบแทน อยู่ได้ยาวนานขึ้น เมื่อมีคนมาอยู่มากขึ้นก็จะช่วยแบ่งเบาภาระได้
“หากบริการพื้นที่พิเศษได้ก็จะดึงหมอให้อยู่ในระบบของจ.บึงกาฬ ได้ ทั้งหมออินเทิร์น และสตาฟ” นพ.ณัฐพงศ์กล่าว
เมื่อถามว่าเรามีแผนรองรับหมอสตาฟที่จะลาออกในจ.บึงกาฬด้วยหรือไม่ เพราะมีข่าวว่าจะลาออกในปีนี้ นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ไม่ได้ลาออกทั้งหมด แต่เป็นการขอย้าย โดยยื่นความจำนงมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่มีการประสานขอให้อยู่ก่อน เพื่อรอสตาฟคนใหม่จะเข้ามาช่วงเดือนมิถุนายนนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า แพทย์อินเทิร์นลาออก คือ ยอมจ่ายค่าปรับแทนการใช้ทุนใช่หรือไม่ นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ใช่ เนื่องจากค่าปรับประมาณ 4 แสนบาท เป็นแพทย์อินเทิร์นใช้ทุน 1 ปี ก็จะเหลือ 2 แสนกว่าบาท แต่การไปเป็นลูกจ้าง รพ.กทม. หรือรพ.เอกชน ก็จะได้ค่าตอบแทนไม่นาน และสามารถหาทุนศึกษาต่อได้อีก