สธ.เตรียม 6 มาตรการฟื้นฟูด้านการแพทย์หลังเกิดอุทกภัย “ภาคเหนือ-อีสาน”
สธ.เตรียม 6 มาตรการฟื้นฟูด้านการแพทย์หลังเกิดอุทกภัย “ภาคเหนือ-อีสาน” โดยเฉพาะ 5 จังหวัดเสี่ยงน้ำท่วมสูง เดินหน้าเตรียมแผนป้องกันอาคารสถานที่ สำรองยา/เวชภัณฑ์ ครบถ้วน เร่งเตรียมทีมเฝ้าระวังสถานการณ์ ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง/ติดเตียงใกล้ชิด พร้อมจัดศูนย์พักพิง 41 แห่งสามจังหวัด รองรับผู้ประสบภัย
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 67 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการเตรียมการรับสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (พายุ “ยางิ”) ว่า อย่างที่ทราบว่า สถานการณ์ผลกระทบฝนตกหนักจาก พายุ “ยางิ” กระทบทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ผ่านมาถือว่าการดำเนินการในพื้นที่ จากการสั่งการของ ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้อย่างครบถ้วน ท่านฝากขอบคุณและให้กำลังใจกับทุกท่านในการดำเนินงาน วันนี้จึงมาทบทวนสถานการณ์ โดยเฉพาะจังหวัดริมโขงมีความห่วงใยมาก เพราะกระแสน้ำขึ้นมาค่อนข้างเร็ว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขมีการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมเพื่อดูว่าเป็นอย่างไรและซักซ้อมในเรื่องสิ่งสนับสนุนและประสานงานให้ทุกจังหวัดทุกอำเภอที่มีความเสี่ยง มีความเตรียมความพร้อมและกำชับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปาะบาง กลุ่มติดบ้านติดเตียง และกำชับในเรื่องที่ประชาชนได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็น จมน้ำ โรคน้ำกัดเท้า ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องเตรียมเวชภัณฑ์ในการรองรับดูแลให้เพียงพอซึ่งขณะนี้มีการจัดส่งเวชภัณฑ์ไปครบแล้ว
นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์พบว่าแบ่งจังหวัดออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มยังไม่ได้รับผลกระทบและมีแนวโน้มที่น้ำจะมาถึง อย่างเช่น จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ที่ต้องมีการติดตามสถานการณ์และเตรียมทีมเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อม โดยเฉพาะโรงพยาบาลมีความสำคัญอย่างมากถ้าโรงพยาบาลน้ำท่วมแล้วช่วยตัวเองไม่ได้คงไปช่วยพี่น้องประชาชนไม่ได้จุดสำคัญที่สุดคือโรงพยาบาลต้องน้ำท่วมเพื่อที่เป็นจุดช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
กลุ่มที่ 2 คือจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมี จังหวัดหนองคาย และ จังหวัดบึงกาฬ โดยระดับน้ำเริ่มสูงขึ้น อย่างโรงพยาบาลหนองคายมีน้ำท่วมขังและบริเวณบ้านพักเจ้าหน้าที่ แต่โรงพยาบาลยังสามารถรองรับดูแลประชาชนได้และได้สั่งการให้เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนทั้งในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล ซึ่งถ้าประชาชนมาโรงพยาบาลไม่ได้ ก็จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าช่วย ขณะนี้มีการระดมทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จำนวน 10 กว่าทีม โดยมีทั้งจังหวัดใกล้เคียงและส่วนกลางเข้าไปช่วยสนับสนุน
กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่เริ่มคลี่คลายจากสถานการณ์ อย่างเช่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งขณะนี้น้ำเริ่มลดลงแล้ว แต่ต้องมีการฟื้นฟูทำความสะอาดบ้าน เฝ้าระวังโรคระบาดโดยเฉพาะ “โรคฉี่หนู” เป็นโรคที่มากับน้ำ อาการในระยะแรกจะไม่ค่อยชัดเจน อาจมีไข้ ปวดศีรษะปวดตามตัว บางคนอาจคิดว่าเป็นเพราะทำงานหนักได้พักผ่อน ซึ่งต้องมีการระมัดระวัง รวมทั้งเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ลงไปช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งแช่น้ำนาน อย่างคนที่มาจากต่างถิ่นบางครั้งไม่มีภูมิคุ้มกันเท่ากับคนในพื้นที่หากได้รับเชื้อโรคจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ ฝากเน้นย้ำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้แนะนำการป้องกันด้วย สุดท้ายนี้ยังมีการซักซ้อมเรื่องสิ่งสนับสนุนและระบบการสื่อสารต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่จะปลอดภัยในการทำงาน
นอกจากนี้ยังมีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขโดยการเปิดศูนย์พักพิงอีก 41 แห่ง แบ่งเป็น จังหวัดเชียงราย 19 แห่ง จังหวัดเชียงใหม่ 5 แห่ง และจังหวัดหนองคาย 17 แห่ง เพื่อรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้
ในส่วนสถานการณ์ 5 จังหวัด ที่ได้รับอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” มีดังนี้
1.จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ 7 ตำบล 24 หมู่บ้าน และประชาชนได้รับผลกระทบ 2,978 ครัวเรือน
2. จังหวัดเชียงรายได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ 19 ตำบล 109 หมู่บ้าน และประชาชนได้รับผลกระทบ 24,925 ครัวเรือน
3. จังหวัดหนองคายได้รับผลกระทบ 5 อำเภอ 21 ตำบล 80 หมู่บ้านและประชาชนได้รับผลกระทบ 218 ครัวเรือน
4. จังหวัดเลยได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ 8 ตำบล 15 หมู่บ้าน
5. จังหวัดบึงกาฬได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ 3 ตำบล สำหรับจังหวัดที่รอรับน้ำต่อไปมีความเสี่ยงสูงมาก คือ จังหวัดมุกดาหาร และเสี่ยงสูงคือ จังหวัดนครพนม จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี
นพ.โอภาส กล่าวว่า มีการเตรียมมาตรการระยะฟื้นฟูด้านการแพทย์และสาธารณสุขหลังเกิดอุทกภัย 6 มาตรการ ดังนี้
1. จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โดยการจัดทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ (MERT) และชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว (Mini-MERT)
2. ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT)
3. เฝ้าระวังตอบสนองแก้ไขปัญหาภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและข้อร้องเรียน โดยทีมพิเศษฉุกเฉินด้านสุขภาพ (พฉส.) (SHERT)
4. ฟื้นฟูบูรณะซ่อมแซมของหน่วยบริการสาธารณสุข โดยทีมสนับสนุนระบบบริการสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน (MSERT)
5. เฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อ
6. สนับสุนการปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ผลสรุปการปฎิบัติงานดูแลด้านสุขภาพจิตยังพบภาวะเครียดสูง 521 คน เสี่ยงซึมเศร้า 73 คน และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 13 คน รวมทั้งในส่วนผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับผลกระทบมี 67 คน โดยต้องเฝ้าระวังดูแลผู้ป่วยจิตเวชไม่ให้ขาดยา บริการจัดส่งยาจิตเวชในพื้นที่ประสบภัยโดยเฉพาะพื้นที่ที่หน่วยบริการได้รับผลกระทบ และประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบรวม 2,762 คน
ขณะเดียวกันพบสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบจำนวน 18 แห่ง สสอ. 2 แห่ง รพ. 2 แห่ง และ รพ.สต. 14 แห่ง เปิดให้บริการ 13 แห่ง โดยจังหวัดเชียงราย 8 แห่ง และจังหวัดหนองคาย 5 แห่ง อีกทั้งปิดให้บริการ 3 แห่ง คือจังหวัดหนองคาย 3 แห่ง ทั้งนี้ยังพบบุคลากรสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 591 ราย