“รพ.สงขลานครินทร์” ออกแถลงการณ์ค้าน “กาสิโน-เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”
รพ.สงขลานครินทร์ ออกแถลงการณ์คัดค้าน ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโน ชี้ส่งผลกระทบ 3 ด้าน พร้อมเผยงานวิจัยต่างประเทศยันค่าใช้จ่ายทางสังคมจากการพนัน เช่น ค่ารักษาพยาบาล-การบําบัด มูลค่าสูงกว่ารายได้จากภาษี
หลังจากมีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. หรือร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2568 นี้ ปรากฎว่าแวดวงสาธารณสุข วงการแพทย์ต่างๆ
ล่าสุด โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ออกแถลงการณ์ คัดค้านการจัดตั้งคาสิโนและศูนย์รวมความบันเทิง (Entertainment Complex) ในประเทศไทย โดยระบุว่า ตามที่รัฐบาลมีแนวคิดและแผนในการจัดตั้ง “คาสิโน” และ “ศูนย์รวมความบันเทิง” (Entertainment Complex) ภายในประเทศไทย โดยให้เหตุผลในเชิงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นรายได้ของประเทศนั้น
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในฐานะสถาบันการแพทย์และแหล่งวิชาการด้านสุขภาพที่มีพันธกิจในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพของประชาชน ขอแสดงจุดยืน คัดค้าน แนวคิดและนโยบายดังกล่าว ด้วยเหตุผลอันมีน้ำหนักจากหลักฐานทางวิชาการ ทั้งด้านการแพทย์ สาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้
1. ผลกระทบทางสุขภาพและสุขภาวะของประชาชน งานวิจัยจํานวนมากในวารสารทางการแพทย์ ระบุชัดว่า การเข้าถึงการพนันอย่างถูกกฎหมายส่งผลให้เกิดภาวะติดการพนัน (Gambling Disorder) ซึ่งจัดเป็นภาวะความผิดปกติทางจิตเวชที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตความสัมพันธ์ในครอบครัวและภาระหนี้สินเรื้อรังในประชากรกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้ ภาวะดังกล่าวมักมีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า ความเครียด การใช้สารเสพติดและความรุนแรงในครอบครัวซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการจัดการ
2. ผลกระทบเชิงสังคมและศีลธรรมอันดีของประชาชน การเปิดคาสิโนอาจนําไปสู่การลดทอนค่านิยมทางศีลธรรมในสังคมไทยซึ่งมีรากฐานจากวัฒนธรรมอันดีงามและหลักศาสนาที่มุ่งเน้นการหลีกเลี่ยงอบายมุข การเปิดพื้นที่สําหรับการพนันอย่างถูกกฎหมาย เสมือนเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการเกิด อาชญากรรม การฟอกเงิน และการแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มเปราะบาง เช่น เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้มีรายได้น้อย
3. ผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระยะยาว แม้จะมีการเสนอว่า โครงการคาสิโนจะสร้างรายได้ให้กับรัฐในระยะสั้นแต่งานวิจัยในประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา พบว่า ค่าใช้จ่ายทางสังคมที่เกิดจากการติดการพนัน เช่น ค่ารักษาพยาบาล การบําบัด การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรม และความเสื่อมโทรมของชุมชน มักมีมูลค่าสูงกว่ารายได้ที่ได้รับจากภาษีของกิจการการพนัน
ดังนั้น การลงทุนในโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เช่น การศึกษา นวัตกรรม การแพทย์ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ย่อมส่งผลดีมากกว่าในระยะยาว
ข้อเรียกร้อง โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาถึงผลกระทบในเชิงองค์รวมอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสุขภาพและศีลธรรมของประชาชน และขอเสนอให้มีการจัดเวทีวิชาการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนสาธารณสุข สถาบันวิจัย และประชาสังคม ก่อนดําเนินการใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวแก่ประเทศชาติ ด้วยความเคารพต่อหลักวิชาการ และจริยธรรมแห่งวิชาชีพทางการแพทย์
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ณ วันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2568