เครือข่ายHIV ยื่นหนังสือถึง “สมศักดิ์” หาทางออกด่วน! หลังถูก USAID ตัดงบฯ-รพ.รัฐค้างจ่ายเงิน
เครือข่าย HIV ยื่นหนังสือถึง “รมว.สมศักดิ์” ให้เร่งแก้ปัญหางบฯที่ถูกตัดจาก USAID – รพ.รัฐค้างชำระค่าบริการกว่า 30 ล้าน พร้อมเสนอทางออกเร่งด่วน เผยเตรียมนัดหารืออธิบดีกรมควบคุมโรค 11 เม.ย.นี้
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 68 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนด้านเอชไอวี เข้าพบ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้เร่งแก้ไขปัญหางบประมาณที่ถูกตัดจาก USAID และปัญหาค้างชำระค่าบริการจากโรงพยาบาลรัฐ รวมเป็นวงเงินกว่า 30 ล้านบาท
โดย น.ส.สุภาพร เพ็งโนนยาง ผู้แทนจากสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี กล่าวว่า ภาคประชาสังคมกำลังเผชิญปัญหาอย่างหนัก ทั้งจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดงบประมาณสนับสนุนโครงการเอชไอวี และจากการที่งบประมาณภายในประเทศที่ควรได้รับจากโรงพยาบาลรัฐก็ยังไม่ได้รับคืน ทั้งที่ได้ร่วมให้บริการกับรัฐมาแล้วกว่า 2 ปี ตอนนี้ติดค้างกันอยู่กว่า 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบฯ จาก สปสช. ที่จ่ายผ่านโรงพยาบาล แต่ระเบียบภาครัฐ ทำให้ไม่สามารถคืนงบฯ ให้ภาคประชาสังคมได้ ทั้งที่เคยมีข้อตกลงร่วมกันชัดเจน
“ซึ่งหากไม่รีบแก้ไขจะกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินงานด้านเอชไอวีของประเทศ เพราะภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญถึง 85% ในการเข้าถึงการตรวจเอชไอวี และ 65% ในการแจกจ่ายยาป้องกัน”
ขณะที่ นางสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการ SWING Thailand กล่าวว่า งบประมาณจากภาคประชาสังคม ถูกรวมไปอยู่กับงบของโรงพยาบาลรัฐทั้งหมด ตามข้อตกลงการให้บริการร่วมกัน แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่เคยได้รับการชำระคืน แม้จะดำเนินการให้บริการไปแล้วในหลายพื้นที่ ทั้งกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ
“ภาคประชาสังคมเป็นกำลังหลักของประเทศในการผลักดันงานด้านเอชไอวี ถ้าไม่มีงบฯ ก็อาจต้องหยุดดำเนินการ เราจึงอยากให้รัฐเร่งพิจารณาแก้ไขปัญหานี้โดยด่วน” นางสุรางค์ กล่าว
ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนเพิ่งทราบรายละเอียดจากภาคประชาสังคม และจะเร่งดำเนินการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที โดยต่อมาได้ต่อสายโทรศัพท์พูดคุยกับ นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค ทันที เพื่อสอบถามถึงข้อจำกัดของระเบียบการเงินที่ทำให้ไม่สามารถคืนงบฯ ให้ภาคประชาสังคมได้ ทั้งนี้จึงได้นัดหมายหารือร่วมกันอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 11 เม.ย. นี้ เพื่อหาข้อยุติภายใน 3 วัน
สำหรับข้อเรียกร้องจากองค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) มีดังนี้
1. ทางออกเร่งด่วน
1) ขอให้หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองบริหารการคลัง กรมควบคุมโรค กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กองกฎหมาย การเงินและการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แก้ไขระเบียบการบริหารเงินการคลังของสถานพยาบาลของรัฐ เพื่อสามารถคืนเงินค่าบริการ PrEP ที่ สปสช. ได้จ่ายให้แล้ว แต่ยังคงค้างอยู่ในโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งที่ร่วมให้บริการ PrEP คืนสู่องค์กรภาคประชาสังคม เพื่อให้สามารถใช้เงินเหล่านี้ในการดำเนินการและจัดบริการต่อไป
2) ขอให้ สปสช. พิจารณา จ่ายค่าบริการด้านเอชไอวีของบริการอื่น ๆ ที่องค์กรภาคประชาสังคมได้ให้บริการจริง นอกเหนือจากบริการ Reach-Recruit-Retain ซึ่งหน่วยงานภาคประชาสังคมได้จัดทำราคาต้นทุนผ่านกระบวนการศึกษาวิเคราห์ต้นทุนและนำเสนอราคาต้นทุนบริการไปยังสปสช.เพื่อพิจารณาเรียบร้อยแล้ว
2. ทางออกระยะกลาง
1) ขอให้หน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมควบคุมโรค สภาวิชาชีพ องค์การอาหารและยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปลดล็อกกฎระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายที่เป็นอุปสรรค และขัดขวางไม่ให้ภาคประชาสังคมสามารถเป็นหน่วยบริการสุขภาพในระบบสาธารณสุขของไทยเพื่อได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน และเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการที่ได้รับเงินค่าบริการจาก สปสช.
3. ทางออกระยะยาว
1) ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณประจำปีจากเงินภาษีประชาชน มายังองค์กรภาคประชาสังคมโดยตรง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านเอชไอวีในภาคประชาสังคมอย่างยั่งยืน โดยไม่พึ่งพาแหล่งทุนภายนอก
2) ขอให้ภาคประชาสังคมได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นหนึ่งในหน่วยบริการสุขภาพที่สามารถจัดบริการได้อย่างยั่งยืนและเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่จำกัดเพียงแค่การดำเนินงานตามมาตรา 3 เท่านั้น
3) ขอให้ผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้นำในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย และกฎ ระเบียบต่าง ๆ ให้แก่องค์กรภาคธุรกิจ บุคคลธรรมดา ที่มีส่วนร่วมในการบริจาค การสนับสนุนงบประมาณเพื่อช่วยเหลือการทำงานเพื่อยุติปัญหาเอดส์ โดยให้องค์กรภาคธุรกิจ และบุคคลธรรมดาได้รับการลดหย่อนภาษีจากกรมสรรพากร กระทรวงการคลังได้