ย้ำ! ใช้แค่บัตร ปชช.ใบเดียวรับบริการ “30 บาทรักษาทุกที่” ในคลินิก-ร้านยา พันกว่าแห่งทั่ว กทม.
สปสช. เปิดขั้นตอนรับบริการ 30 บาทรักษาทุกที่ใน กทม. แค่ใช้บัตรประชาชนใบเดียวตรวจสอบสิทธิแล้วรับบริการได้เลย เผยขณะนี้มีคลินิกต่างๆ และร้านยาพร้อมให้บริการผู้มีสิทธิบัตรทองทั่ว กทม. กว่า 1,500 แห่ง
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดกิจกรรมเสวนา “ขั้นตอนและวิธีการใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดี เริ่มที่ใกล้บ้าน” ในงาน “30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร” โดยมี พ.ต.ทพ.ธนศักดิ์ ถัมภ์บรรฑุ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมดำเนินการเสวนาฯ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลักการของ 30 บาทรักษาทุกที่ มีที่มาเนื่องจากระบบเดิมผู้ใช้สิทธิบัตรทองจะต้องลงทะเบียนที่โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้าน เพื่อไปรับบริการเมื่อเจ็บป่วยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามการไปโรงพยาบาลก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง เช่น เสียค่าเดินทาง เสียโอกาสในการหารายได้ โรงพยาบาลมีความแออัดและต้องรอคอยนาน และจากสถิติพบว่า 80% ของผู้ป่วยที่ไปโรงพยาบาล เป็นกลุ่มที่เจ็บป่วยเล็กน้อย ด้วยเหตุนี้ สปสช. จึงเกิดแนวคิดในการเพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วย 80% กลุ่มนี้ สามารถไปรับบริการที่คลินิกเวชกรรม ร้านยา หรือคลินิกอื่นๆ ใกล้บ้าน เพื่อเพิ่มความสะดวกและลดอุปสรรคข้างต้น
ดังนั้น สปสช. จึงได้เชิญชวน 7 สภาวิชาชีพทางการแพทย์เข้ามาร่วมให้บริการแก่ผู้มีสิทธิบัตรทอง ปัจจุบันมีคลินิกและร้านยาเข้าร่วมทั่วประเทศประมาณ 9,600 แห่ง โดยอยู่ในพื้นที่ กทม. ประมาณ 1,500 แห่ง ประกอบด้วย คลินิกเวชกรรม 189 แห่ง คลินิกทันตกรรม 220 แห่ง ร้านยา 914 แห่ง คลินิกกายภาพบำบัด 24 แห่ง คลินิกเทคนิคการแพทย์ 32 แห่ง คลินิกพยาบาล 9 แห่ง และคลินิกแพทย์แผนไทย 31 แห่ง ปัจจุบันมีการให้บริการไปแล้ว 2.2 แสนคน รวม 5 แสนครั้ง
นอกจากนี้ สปสช. ยังเพิ่มบริการพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการให้มากที่สุด เช่น มีผู้ให้บริการเทเลเมดิซีนเพื่อพบแพทย์ออนไลน์ผ่านมือถือ 4 ราย มีห้องพยาบาลในโรงเรียน 100 แห่ง ใน กทม. ที่นำระบบเทเลเมดิซีนมาใช้เพื่อให้นักเรียนได้พบแพทย์โดยตรง มี Health Station ภายใต้ชื่อ “ตู้ห่วงใย” ให้บริการเทเลเมดิซีนแก่ผู้ที่ไม่สะดวกในการรับบริการผ่านมือถือตั้งอยู่ในชุมชน กทม. อีก 5 แห่ง และในเดือน ต.ค. นี้ จะติดตั้ง Health Station ที่สถานีรถไฟฟ้าอีก 10 เส้นทาง มีรถทันตกรรมเคลื่อนที่เข้าไปในชุมชน รวมทั้งมีการขยายคลินิกต่างๆ เข้าไปในปั๊มบางจาก 10 แห่ง และจะขยายเป็น 30 แห่งภายในสิ้นปีนี้
ด้าน นายมานพ โยเฮือง ผู้เชี่ยวชาญสายงานบริหารกองทุน สปสช. กล่าวว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น และคลินิกนวัตกรรมทั้ง 7 วิชาชีพเหล่านี้ เป็นบริการปฐมภูมิ ทำหน้าที่ให้บริการบริการพื้นฐาน เช่น รักษาพยาบาลเบื้องต้น บริการคัดกรองโรค ส่งเสริมสุขภาพ บริการฟื้นฟูสุขภาพเบื้องต้น โดยผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถค้นหาหน่วยบริการได้หลายวิธี เช่น เข้าไปที่ www.nhso.go.th กดที่ไอค่อน “Google Map หน่วยบริการ 30 บาทรักษาทุกที่ กทม.” ระบบจะแสดงพิกัดของคลินิกที่ร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ บนแผนที่ google map ทำให้สามารถเลือกไปรับบริการได้ตามความประสงค์
นอกจากนี้ในด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ผู้มีสิทธิบัตรทองยังสามารถค้นหาหน่วยบริการผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เมื่อกดเข้าไปที่เมนู “กระเป๋าสุขภาพ” ระบบจะแสดงรายการสิทธิด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของผู้ใช้งานรายนั้นๆ และมีรายชื่อหน่วยบริการที่อยู่ใกล้บ้านให้นัดหมายเข้าไปรับบริการได้ และหากไม่ถนัดในการค้นหาผ่านมือถือ สามารถโทรสอบถามมาที่สายด่วน สปสช. 1330 ก็ได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่แนะนำหน่วยบริการที่อยู่ใกล้บ้านให้
นายมานพ กล่าวอีกว่า ส่วนของขั้นตอนวิธีการการรับบริการนั้นง่ายมาก เมื่อค้นหาและเลือกหน่วยบริการแล้ว ผู้ใช้สิทธิบัตรทองเพียงยื่นบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่เพื่อทำการตรวจสอบสิทธิแล้วรับบริการได้เลย หรือกรณีไม่มีบัตรประชาชน เช่น เด็กก็สามารถใช้บัตรประชาชนของผู้ปกครองทำการยืนยันสิทธิและรับบริการได้เช่นกัน และเมื่อรับบริการเสร็จแล้ว จะต้องใช้บัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตนเมื่อสิ้นสุดการรับบริการอีกครั้ง
“โดยหลักการแล้วทุกคลินิกจะมีขั้นตอนแบบเดียวกัน ต่างกันที่รายละเอียดตามวิชาชีพ เช่น คลินิกเวชกรรมจะตรวจ รักษา ให้ยา คลินิกทันตกรรมจะตรวจสุขภาพช่องปากก่อน จากนั้นจึงวางแผนขูดหินปูน อุดฟั ถอนฟัน คลินิกพยาบาลก็มีทั้งบริการฉีดยา ทำแผล ใส่สายสวนปัสสาวะ การเยี่ยมบ้าน ฯลฯ คลินิกเทคนิคการแพทย์ ก็จะให้บริการเจาะเลือดเพื่อตรวจรายการต่างๆ 22 รายการ คลินิกกายภาพบำบัดก็จะทำการฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นต้น” นายมานพ กล่าว
นายมานพ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่อาการเจ็บป่วยเกินขีดความสามารถการดูแลของคลินิกและร้านยาเหล่านี้ ก็จะมีกระบวนการส่งต่อไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยบริการระดับทุติยภูมิไปจนถึงตติยภูมิตามลำดับ ซึ่ง สปสช. ได้มีการวางเครือข่ายระบบส่งต่อไว้เรียบร้อยแล้ว