ผู้เชี่ยวชาญห่วงไทยเป้าหมายการตลาด “บุหรี่ไฟฟ้า” ดึงเยาวชนเป็นลูกค้าระยะยาว
ผู้เชี่ยวชาญชี้ ไทย ตกเป็นเป้าหมายหลัก “บุหรี่ไฟฟ้า” ทำตลาดดึงดูดเยาวชนเป็นลูกค้าระยะยาว ห่วง! หากยกเลิกการห้ามขาย อัตราการสูบพุ่งแน่ “หมอประกิต” เล็งประสานพรรคการเมือง ทำหนังสือถึงประธานสภาฯ ไม่ให้ตั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาใน กมธ. ร่างนโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 67 ที่โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร ศูนย์ความรู้เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายจากบริษัทบุหรี่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาประเด็นผลกระทบจากเปิดเสรีบุหรี่ไฟฟ้าในต่างประเทศ กับผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก จากสำนักเลขานุการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ และผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกา
ศ.สเตลล่า บีอลอส (Professor Stellar Bialous) ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า แคนาดาเคยมีกฎหมายห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ได้ยกเลิกไปเมื่อปี 2018 โดยเปลี่ยนไปใช้ระบบการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์ยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า (Tobacco and Vaping Products Act) ส่งผลให้การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนและคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีตัวอย่างที่เมืองอัลเบอร์ตา (Alberta) พบการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 16-19 ปี เพิ่มขึ้นถึง 74% โดยอัตราการใช้เพิ่มจาก 8.4% ในปี 2017 เป็น 14.6% ในปี 2018 และยังเพิ่มสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงมีอัตราการใช้สูงกว่าผู้ชาย ในช่วงปี 2021-2022 มีเยาวชน 11% ที่ใช้บุหรี่ทั่วไปควบคู่บุหรี่ไฟฟ้า
“สถานการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐบาลแคนาดาจึงได้ออกมาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติมในปี 2021 เพื่อควบคุมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน โดยจำกัดปริมาณนิโคตินไม่ให้เกิน 20 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ตั้งแต่ปี 2017-2020 แคนนาดาได้จัดทำแคมเปญสื่อสารให้ความรู้เรื่องความเสี่ยงของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของแก่เยาวชนอายุ 13-18 ปี ใช้งบประมาณกว่า 12 ล้านดอลลาร์ ในการรณรงค์เรื่องความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ในจำนวนนี้ถูกใช้ไปที่กลุ่มเยาวชนมากถึง 9.5 ล้านดอลลาร์” ศ.สเตลล่า กล่าวและว่า
จากการสำรวจปี 2022 พบชาวแคนาดาที่มีอายุยิ่งน้อยยิ่งมีแนวโน้มที่จะใช้บุหรี่ไฟฟ้าภายใน 30 วันก่อนการสำรวจ โดยเยาวชนอายุ 15–19 ปี มีอัตราการสูบ 14% และกลุ่มอายุ 20–24 มีอัตราการสูบ 20% ขณะที่กลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไป มีอัตราการสูบเพียง 4% ซึ่งเป็นอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เคยสูงที่สุดในโลก
ศ.สเตลล่า กล่าวต่อว่า ขณะที่สหรัฐอเมริกา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) มีหน้าที่กำกับดูแลการให้อนุญาตบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย โดยมีบุหรี่ไฟฟ้ายื่นขออนุมัติมากกว่า 6 ล้านรายการภายในปี 2020 แต่จนถึงปัจจุบันคือปี 2024 มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตเพียง 34 รายการ จาก 3 ยี่ห้อ ไม่อนุญาตจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าแบบกลิ่นรส และแบบใช้แล้วทิ้งที่แต่งกลิ่นรส แต่ยังพบการวางขายผิดกฎหมายอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้ปี 2019 กลุ่มเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าพุ่งสูงถึง 27.5% และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการแต่งกลิ่นถึง 87.6%
ที่น่าตกใจคือ แบรนด์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดกลับไม่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่าย ทาง FDA ได้ทุ่มงบประมาณกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8,657 ล้านบาท) เพื่อรณรงค์ป้องกันเยาวชนจากการสูบบุหรี่และการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยออกแคมเปญ The Real Cost ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง มีส่วนให้อัตราการสูบของเยาวชนลดลงเหลือเพียง 5.9% ในปี 2024
“แม้จะได้รับอนุญาตให้ขาย 34 ผลิตภัณฑ์ แต่ไม่ได้แปลว่าผลิตภัณฑ์ปลอดภัย โดยห้ามนำไปอ้างว่าปลอดภัยและห้ามอ้างว่าช่วยเลิกบุหรี่ได้ เพราะมีนิโคตินและสารอื่นๆ ที่เป็นอันตราย ที่น่าห่วงคือประเทศไทยเป้าหมายในการทำการตลาดบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากทุกประเทศที่มีประชากรอายุน้อยเยอะจะเป็นเป้าหมายเพราะเป็นลูกค้าที่ติดได้นาน” ศ.สเตลล่า กล่าว
อีกเหตุผลคือไทยมีภาพเป็นผู้นำควบคุมยาสูบในระดับนานาชาติ ถ้าเปิดตลาดประเทศไทยได้ก็จะเป็นข้ออ้างว่า ไทยยังเปลี่ยนจากห้ามมาให้ขายได้ ซึ่งหากไทยยกเลิกการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าจริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือจะมีเครือข่ายขายถูกกฎหมายไปทั่วประเทศ สินค้าเถื่อนก็จะตามไปด้วย อัตราการสูบก็จะพุ่งขึ้นโดยเฉพาะประชาชน ท่ามกลางความไม่พร้อมในการตรวจสารต่างๆ ในบุหรี่ไฟฟ้า และการควบคุมในการทำให้ถูกกฎหมาย
นายแอนดรู แบลค (Andrew Black) ผู้นำทีมสำนักเลขานุการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การประเมินผลกระทบของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) และงานวิจัยอื่น ๆ ตระหนักว่าอุตสาหกรรมยาสูบเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาคือ การลดจำนวนผู้สูบบุหรี่และการได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งจากการสำรวจทุก 2 ปี พบว่า การแทรกแซงนโยบายของบริษัทบุหรี่เป็นอุปสรรคอันดับหนึ่งของทั่วโลก พร้อมใช้ทุกกลยุทธ์ขัดขวางนโยบายควบคุมยาสูบ
โดยอนุสัญญา WHO FCTC ในมาตรา 5.3 ระบุชัดเจนให้ประเทศสมาชิก 183 ประเทศ ควรปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยปราศจากการรับผลประโยชน์เชิงพาณิชย์และผลประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสูบ ซึ่งกำหนดเป็นแนวทางการปฏิบัติและข้อเสนอแนะที่มีประสิทธิภาพ เช่น รัฐต้องจำกัดการติดต่อกับบริษัทบุหรี่เท่าที่จำเป็น และการติดต่อต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่รับข้อเสนอความช่วยเหลือใดๆ จากบริษัทบุหรี่ เป็นต้น ทั้งนี้ สังคมควรรู้เท่าทันกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ สำนักงานอนุสัญญาควบคุมยาสูบฯ จึงร่วมกับศูนย์วิชาการฯ จัดอบรมให้แก่ 17 ประเทศถึงเรื่องการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่ในการควบคุมยาสูบ
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักเลขานุการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ผู้ทรงคุณวุฒิจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ และสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ได้เข้าพบ นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา และนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นการแทรกแซงนโยบายการควบคุมยาสูบ และมาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก เพื่อป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะประเด็นการพิจารณาศึกษานโยบายและมาตรการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
ทั้งนี้ จะมีการประสานงานขอให้มีพรรคการเมือง มีหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการพิจารณาออกกฎ ระเบียบของรัฐสภา ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรา 5.3 อนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ที่ไม่ให้มีการตั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ เข้าเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษา ในคณะกรรมาธิการที่รัฐสภาตั้งขึ้น เพื่อพิจารณา กำหนดข้อเสนอนโยบายควบคุมยาสูบ เพื่อป้องกันปัญหาที่เป็นอยู่ ที่มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่ศึกษาและพิจารณากฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าของไทย