เปิดตัวเลขข่าวความรุนแรงในครอบครัว ปี 66 กว่า 1 พันเรื่อง ชี้แอลกอฮอล์-สารเสพติด ตัวกระตุ้นสำคัญ
สสส.ชี้ แอลกอฮอล์-สารเสพติด ตัวกระตุ้นความรุนแรงในครอบครัว สานพลัง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล-บ.บีบีดีโอ กรุงเทพ ชูแคมเปญ “เลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง” ยกเคสน้องจีจี้กระตุกสังคม
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 67 ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ บริษัท บีบีดีโอ กรุงเทพ จำกัด (BBDO Bangkok) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ประจำปี 2567 ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พ.ย. ของทุกปี “Bring Back 2nd Chance of Life” คืนโอกาสดีๆ ให้ตัวเอง และเลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง
โดย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัว มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด เป็นตัวกระตุ้นสำคัญ เสี่ยงต่อการมีสุขภาวะ
1.ด้านสุขภาพ เช่น โรคตับ โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน
2.ด้านสังคมและวัฒนธรรม เกิดความรุนแรงในครอบครัว ทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุทางถนน
3.ด้านเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ สูญเสียค่ารักษาทางการแพทย์มหาศาล หน้าที่การงานมีปัญหา ทรัพย์สินเสียหายจากอุบัติเหตุ ประเทศขาดโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ
4.ความรุนแรงในครอบครัว ทั้งต่อเด็กและผู้หญิง จากการศึกษาการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กรณีศึกษาประชาชนอายุ 20 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลโดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ(SAB) จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,692 คน ระหว่างวันที่ 17 – 23 ตุลาคม 2564 พบว่า ประชาชน 80% ได้รับผลกระทบจากคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ก่อความรำคาญ และทะเลาะวิวาท
สสส. เห็นความสำคัญของการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดปัญหา จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำงานเชิงรุก ขับเคลื่อนประเด็น สะท้อนปัญหา และถอดบทเรียนไปสู่การหาแนวทางแก้ไขมาตลอด
“เพราะความรุนแรงในครอบครัว เสี่ยงต่อการมีสุขภาวะทั้ง กาย จิต ปัญญา และสังคมที่ไม่ดี หากไม่ได้รับการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง การรณรงค์ในปีนี้มาพร้อมกับแนวคิด Bring Back 2nd Chance of Life คืนโอกาสดีๆ ให้ตัวเอง และเลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง นำประสบการณ์ไปสู่การขับเคลื่อนสังคม พิจารณามาตรการทางนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยุติปัญหาความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯ รวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เสนอผ่านสื่อในปี 2566 รวม 1,086 ข่าว มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น 316 ข่าว คิดเป็น 29.1% ยาเสพติด 283 ข่าว คิดเป็น 26.1% โดยแบ่งเป็น 5 ประเภทข่าว ได้แก่
1.ทำร้ายกัน 433 ข่าว คิดเป็น 39.9% เป็นเรื่องระหว่างสามี-ภรรยามากที่สุด 152 ข่าว คิดเป็น 35.1% พ่อ-แม่-ลูก 108 ข่าว คิดเป็น 24.9% คู่รักแบบแฟน 102 ข่าว คิดเป็น 23.6% เครือญาติ 71 ข่าว คิดเป็น 16.4% สาเหตุเพราะหึงหวง ง้อขอคืนดีไม่ได้ โมโห บันดาลโทสะ
2.ฆ่ากัน 388 ข่าว คิดเป็น 35.7% เกิดขึ้นในคู่สามี-ภรรยา 168 ข่าว คิดเป็น 43.3% เครือญาติ 94 ข่าว คิดเป็น 24.2% คู่รักแบบแฟน 64 ข่าว คิดเป็น 16.5% พ่อ แม่ ลูก 59 ข่าว คิดเป็น 15.2% และฆ่ายกครัว 3 ข่าว คิดเป็น 0.8% สาเหตุเพราะหึงหวง ตามง้อไม่สำเร็จ บันดาลโทสะ โมโหที่ถูกบอกเลิก ขัดแย้งเรื่องการเงิน
3.ฆ่าตัวตาย 213 ข่าว คิดเป็น 19.6% โดยผู้ชายเป็นฝ่ายฆ่าตัวตาย 140 ข่าว คิดเป็น 65.7% ผู้หญิงเป็นฝ่ายฆ่าตัวตาย 68 ข่าว คิดเป็น 31.9% และ lgbtq+ฆ่าตัวตาย 5 ข่าว คิดเป็น 2.4% สาเหตุเพราะน้อยใจคนรัก เครียดปัญหาหนี้สิน ตกงาน ป่วยจากโรคซึมเศร้า
4.ความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัว 46 ข่าว คิดเป็น 4.2% โดยเกิดระหว่างเครือญาติ พ่อเลี้ยงทำกับลูกเลี้ยง ที่น่าตกใจคือพ่อทำกับลูกแท้ๆ ถึง 11 ข่าว คิดเป็น 23.9%
5.ความรุนแรงในครอบครัวอื่นๆ จำนวน 6 ข่าว คิดเป็น 0.6%
โดยมีข้อเสนอในการแก้ปัญหา ดังนี้
1.สมาชิกในครอบครัวสังเกตพฤติกรรมความรุนแรงคนในครอบครัว สื่อสาร แก้ปัญหาร่วมกัน
2.ผู้ถูกกระทำความรุนแรงควรสื่อสารปัญหาให้คนที่ไว้วางใจฟัง หรือปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มองเป็นเรื่องปกติ
3.ชุมชนเป็นฐานในการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว บูรณาการงานร่วมกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ศูนย์ยุติธรรมชุมชน กระทรวงยุติธรรม พนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องนี้
4.มีมาตรการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยกระตุ้น ทั้งอาวุธปืน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติด โดยเฉพาะอาวุธปืนที่ต้องมีการขึ้นทะเบียน ต้องควบคุมและปราบปรามอาวุธเถื่อนอย่างจริงจัง บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด
ด้าน นายทสร บุณยเนตร หัวหน้าครีเอทีฟ บริษัท บีบีดีโอ กรุงเทพ จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาแคมเปญรณรงค์ปีนี้ มีแนวคิด “อย่าให้โอกาสความรุนแรง ครั้งที่ 2” โดยยกกรณี น้องจีจี้ นางสาวสุพิชชา ปรีดาเจริญ เนตไอดอลชื่อดัง ซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงมากกว่า 1 ครั้ง มีการยื่นโอกาสให้กับคนรัก สุดท้ายเสียชีวิตทั้งคู่
ทั้งนี้ ได้ปรึกษาครอบครัวน้องจีจี้เพื่อนำเรื่องราวมาถ่ายทอดให้กับสังคมได้รับทราบในรูปแบบภาพยนตร์โฆษณา อย่าให้โอกาสความรุนแรงกับคนอื่น แล้วเก็บโอกาสนั้นให้กับตัวเอง เพราะที่จริงแล้วน้องจีจี้ยังมีโอกาสในชีวิตอีกเยอะ ซึ่งน้องจีจี้กำลังจะเป็นนักร้อง ได้เล่นภาพยนตร์เรื่องแรกไปแล้ว แต่การให้โอกาสนี้กับความรุนแรง จึงทำให้ไม่มีโอกาสให้กับตัวเอง นอกจากนี้ยังนำเสนอช่องทางการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงทั้งด้านกฎหมาย ที่พักชั่วคราว และแหล่งงาน
“ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมา 10 ปี มีแต่คำว่านับถือ เพราะคนที่ทำงานด้านนี้ไม่ได้มาทำงานเพราะเงินแต่มาเพราะใจ และได้สสส. เข้ามาช่วยขับเคลื่อน ผมจึงตั้งใจมากเพราะได้นำความรู้ความสามารถจากวิชาชีพโฆษณา ทำแคมเปญนี้ทำให้สังคมเกิดการรับรู้ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อย่างน้อยก็เป็นคำแนะนำเบื้องต้นให้คนที่เผชิญปัญหาอยู่ เพราะวันนี้ประเทศไทยมีผู้ถูกกระทำความรุนแรงอันดับสูงเป็น 2 ของโลก ผมอยากแก้ปัญหาให้ไทยติดอันดับด้านดีๆ มากกว่า” นายทสร กล่าว