สปสช. เห็นชอบบัตรทอง 30 บาทกทม. “ รับส่งผู้ป่วยทุพพลภาพ” ฟรี! คาดใช้งบฯ 15 ล้านบาท
บอร์ด สปสช. รับทราบ รพ.-มูลนิธิเอกชน 14 แห่ง ร่วมให้ “บริการพาหนะรับส่งผู้ป่วยทุพพลภาพสิทธิบัตรทอง” ในกรุงเทพฯ เผยมีรถให้บริการกว่า 100 คัน รับส่งผู้ป่วยได้กว่า 5 หมื่นเที่ยว หลัง คกก.หลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร อนุมัติเห็นชอบ คาดใช้งบประมาณ 15 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 67 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบข้อเสนอการจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพเพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” และมอบให้ สปสช. ดำเนินการ ที่ผ่านมา สปสช. ได้ดำเนินการออกประกาศฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ในการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพเพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2567 แล้ว และได้จัดทำระบบศูนย์สั่งการและประสานงานผู้ให้บริการพาหนะรับส่งในระบบบัตรทองผ่านสายด่วน สปสช. 1330 รวมถึงดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดบริการตามโครงการดังกล่าวผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.)
อย่างไรก็ดี ในการประชุมบอร์ด สปสช. ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณา และรับทราบ “รายงานความก้าวหน้าบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพเพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุขในระบบฯ นำเสนอโดย นพ.เติมชัย เต็มยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะนี้บริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพฯ ได้ดำเนินการแล้วในส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยช่วงเดือน ต.ค. – พ.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครได้เห็นชอบโครงการตามที่โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. 11 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 2 แห่ง และมูลนิธิเส้นด้ายอีก 1 แห่ง เสนอเพื่อขอร่วมให้บริการรถรับส่งผู้ป่วยทุพพลภาพสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการสาธารณสุข ซึ่งโดยรวมมีจำนวนรถรับส่งฯ กว่า 100 คัน สามารถให้บริการได้ประมาณ 50,000 เที่ยว โดยเบิกจ่ายค่าบริการจากกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ที่กำหนดอัตราการจ่ายไม่เกิน 350 บาทต่อเที่ยว ภาพรวมใช้งบประมาณอยู่ที่ราว 15 ล้านบาท เพื่อดูแลกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 15,440 คน
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ยังมีมติให้ปรับงบประมาณค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องกับฐานข้อมูลทะเบียนรายชื่อผู้ป่วยผู้รับบริการ หลักเกณฑ์และกติกาการให้บริการที่ต้องมีคุณภาพมาตรฐาน ตามที่คณะกรรมการฯ ได้กำหนด คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2567
นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ สปสช. ได้ให้สายด่วน สปสช. 1330 ทำหน้าที่ประสานกับโรงพยาบาลที่ร่วมให้บริการ ในการจัดกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการโดยสอดรับกับแผนบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพของโรงพยาบาล และร่วมวางแผนติดตามผลการดำเนินงานต่อไป