เปิดผลิตภัณฑ์ “โซเดียมสูงปรี๊ด” เครือข่ายลดเค็ม ชงอย.บังคับผลิตภัณฑ์ติดฉลาก ให้ประโยชน์ทางภาษี
สมาคมเพื่อนโรคไตฯ เผยอย่าเสี่ยงโรคไต หยุดบริโภคโซเดียมสูงเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเกลือเกิน 1 ช้อนชา-น้ำปลาเกิน 4 ช้อนชาต่อวัน เผยผลสำรวจผลิตภัณฑ์ 2 กลุ่มพบ “โซเดียมสูงปรี๊ด” ด้านประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ชง อย.บังคับกฎหมายผลิตภัณฑ์อาหารเค็มสูง ต้องติดฉลากปริมาณโซเดียม แนะรัฐควรมีมาตรการทางภาษี ให้ประโยชน์แก่เจ้าของผลิตภัณฑ์ลดปริมาณโซเดียม และห้ามทำการตลาดในกลุ่มเด็ก
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 67 ที่โรงแรม ทีเค.พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม รวมถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ ร่วมแถลงข่าว “ภัยเงียบ โซเดียมในอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส” บ่อเกิดของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือเอ็นซีดี (NCDs) โดยภายในงานเชิญชวนประชาชนไม่ควรกินอาหารที่มีโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา หรือเทียบเท่าน้ำปลาไม่เกิน 4 ช้อนชา เพราะหากเกินที่ปริมาณร่ายกายต้องการ จะก่อให้เกิดการเสื่อมของไต นำไปสู่โรคไตได้
นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันอาหารกึ่งสำเร็จรูปเป็นที่นิยมมาก มีให้เลือกหลายรสชาติ แต่ปัญหาคือ หากบริโภคโซเดียมมากกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ย่อมส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งความดันโลหิตสูง เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ จนนำไปสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
น.ส.ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 หลังจากสำรวจมาเมื่อปี 2564 โดยครั้งนี้เก็บผลิตภัณฑ์ 2 กลุ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.2567 เป็นผลิตภัณฑ์ผลิตในประเทศและนำเข้า โดยมีการตรวจฉลากข้อมูลทางอาหารต่างๆ จำแนกดังนี้
กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป
1.กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป 302 ตัวอย่าง สำรวนตั้งแต่ พ.ค.-มิ.ย.2567 แบ่งเป็น 3 ประเภท จำแนกดังนี้
1.1 ประเภทก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น 236 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ต่ำสุด 210 มิลลิกรัม(มก.) สูงสุด 7,200 มก. ค่าเฉลี่ย 1,425.75 มก. ซึ่งสูงมาก โดยสมาคมฯ ยังสำรวจ 10 อันดับผลิตภัณฑ์ยอดเค็ม พบว่าเป็นราเมง ผลิตภัณฑ์นำเข้าบางยี่ห้อพบโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคสูงถึง 7,200 มก.ต่อห่อ
1.2 ประเภทโจ๊ก ข้ามต้น 47 ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคค่าเฉลี่ย 587.28 มก.
1.3 ประเภทซุปต่างๆค่าเฉลี่ย 471.58 มก.
กลุ่มเครื่องปรุงรส
2.กลุ่มเครื่องปรุงรส 105 ตัวอย่าง ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ค.2567 แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้
2.1 ประเภท ซอส ซีอิ้ว น้ำมันหอย น้ำปลา 69 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคเฉลี่ย 841.09 มิลลิกรัม(มก.) ต่ำสุด 85 และสูงสุดถึง 2,560 มก. ซึ่งการสำรวจ 10 ผลิตภัณฑ์ยอดเค็ม พบน้ำปลาร้ายี่ห้อหนึ่ง มีปริมาณโซเดียมถึง 2,560 มก. รองลงมาเป็นน้ำปลา
2.2 ประเภทน้ำปรุงรส พริกแกง กะปิ 20 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคเฉลี่ย 608.15 มก. ต่ำสุด 65 และสูงสุดถึง 1,490 มก. ซึ่งจากการสำรวจ 10 อันดับผลิตภัณฑ์ยอดเค็มพบว่า กะปิยี่ห้อหนึ่ง โซเดียมสูงสุด รองลงมาเป็นน้ำพริกแกงส้ม น้ำพริกแกงพะแนง เป็นต้น
2.3 ประเภทผงปรุงรส 6 ตัวอย่าง ค่าเฉลี่ย 409.34 มก. โดยพบว่า มียี่ห้อหนึ่งระบุว่า เป็นผงปรุงรสอาหาร สูตรลดโซเดียม แต่ยังมีปริมาณโซเดียมสูงสุดถึง 950 มก.ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค รองลงมา เป็นกานพลู ผงพะโล้ เป็นต้น และ 2.4 ประเภทเนย ชีส 10 ตัวอย่าง ค่าเฉลี่ย 174.50
(อ่านรายละเอียด 10 อันดับผลิตภัณฑ์ยอดเค็มในแต่ละประเภทได้ที่เพจ สมาคมเพื่อโรคไตแห่งประเทศไทย)
น.ส.ศศิภาตา กล่าวอีกว่า ปัญหาที่พบในการสุ่มเก็บตัวอย่าง พบว่า ไม่มีวันผลิตแต่มีวันหมดอายุ ระบุไว้ในภาชนะบรรจุ มีบางผลิตภัณฑ์หมดอายุแล้วแต่ยังวางขาย เครื่องปรุงบางชนิดไม่มีฉลากโภชนาการแต่มีฉลาก GDA ฉลากโภชนาการมีขนาดเล็กทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงยาก และผลิตภัณฑ์นำเข้าบางชนิด ไม่ติดฉลากภาษาไทย แต่ต้องชื่นชมผลิตภัณฑ์ที่มีการปรับลดโซเดียมลง เนื่องจากพบว่า การสำรวจทุกประเภทมีบางผลิตภัณฑ์ที่ปรับลดโซเดียมลงด้วย สามารถดูรายละเอียดของการสำรวจผ่านเพจสมาคมเพื่อนโรคไตฯได้
แนะรัฐออกมาตรการทางภาษี ให้ผลิตภัณฑ์อาหารลดโซเดียม
ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า ปัญหากินเค็ม เรื้อรังมานาน นำมาสู่โรคไตเจอทุกวัน ค่ารักษาสูงขึ้นมาก ล่าสุด สปสช.รู้แล้วว่า ค่ารักษาโรคไตสูงขึ้นเกิน 10% ของงบประมาณรักษาพยาบาลทั้งหมด ทั้งค่าล้างไต ฟอกเลือด และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทางที่ดีป้องกันก่อนเกิดโรคดีที่สุด เพราะไม่เป็นโรคย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิต จึงต้องรณรงค์ลดการกินเค็มให้น้อยลง ที่ผ่านมามีการรณรงค์ลดเค็มมาตลอด มีการทำงานร่วมกับเครือข่าย และสสส. แต่การตระหนักอย่างเดียวไม่ได้ เพราะหากสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่เอื้อ ดังนั้น นอกจากขอความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมลดโซเดียม ลดเค็ม อยากให้ติดฉลาก ปริมาณโซเดียมให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นฉลาก หากผลิตภัณฑ์ไหนไม่มีฉลาก อย่าซื้อ
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ต้องบังคับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโซเดียมสูง ให้ติดฉลากแสดงปริมาณโซเดียม อย่างน้ำปลา ผงปรุงรส บางขวดก็ไม่แสดงฉลาก
“ดังนั้น อย.ต้องบังคับ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์รู้ และในอนาคตเมื่อมีการปรับลดโซเดียม ควรได้ประโยชน์มาตรการทางภาษี ส่วนบริษัทที่มีโซเดียมสูงควรเก็บภาษี เพื่อชักจูงให้ลดโซเดียมลงมา จะทำให้คนรู้ว่า ตัวนี้ราคาแพงเพราะโซเดียมสูง ก็จะปรับลดไม่กิน ซึ่งยุโรป ฮังการีก็ใช้วิธีนี้ ระยะยาวจะดีทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ลดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์โซเดียมต่ำให้ทำการตลาด ทำโฆษณาได้ แต่หากโซเดียมสูง ห้ามทำการตลาดกับเด็ก เป็นต้น ปัจจุบันพบว่าความดันโลหิตสูงในเด็กพบสูงขึ้น ในเด็กชั้นปฐมศึกษา กทม. พบว่า 1 ใน 10 คนเป็นความดันสูง เดิมพบเพียง 2-3% แต่ขณะนี้เพิ่มเป็น 10%ในกทม. และแน่นอนว่า กลุ่มนี้เมื่อโตขึ้นจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง ต้องกินยาความดัน ก่อโรคเอ็นซีดี
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารโซเดียมสูง
น.ส.ทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากข้อมูลของ World Instant Noodles Association ปี 2566 คนไทยบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปริมาณ 3,950 ล้านเสิร์ฟ เป็นอันดับ 9 ของโลก ในยุคแห่งการดำรงชีวิตที่เร่งรีบ หลายคนชอบกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะอิ่มท้อง ปรุงง่าย และรสชาติอร่อย แต่ก็จัดเป็นอาหารที่มีโซเดียมสูงที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งเกิดจากการ“กินเค็มมากเกินไป” ทำให้เกิดปัญหาความดันโลหิตสูงและโรคไตวายตามมาได้
จากโครงการสำรวจครั้งนี้ “ฉลาดซื้อ” มีคำแนะนำว่า การเลือกซื้ออาหารกึ่งสำเร็จรูปต้องเลือกที่ระบุชื่อของผลิตภัณฑ์ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตอย่างชัดเจน มีเลขสารบบอาหาร ซึ่งแสดงว่าได้ขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าจาก อย.เรียบร้อยแล้ว ต้องบอกปริมาณเป็นระบบเมตริก เพื่อให้เปรียบเทียบกับสินค้าอย่างเดียวกัน แต่คนละยี่ห้อได้ ซึ่งจะทำให้ได้สินค้าที่สมกับราคา ผู้บริโภคต้องอ่านข้อมูลโภชนาการบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารก่อนทุกครั้ง และควรระวังเด็กๆ ที่ชอบกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยไม่ได้ต้มก่อน เพราะเมื่อบะหมี่ตกถึงกระเพาะจะดูดน้ำจากส่วนอื่นของร่างกายทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ ถ้ากินมากๆ และไม่ดื่มน้ำตามก็อาจจะเกิดอาการวิงเวียนหรือหน้ามืดได้