รณรงค์ “วันเอดส์โลกปี 67” จับมือ 71 องค์กรขับเคลื่อน “บริการรับส่งต่อ-ยุติเอดส์” ในชุมชน
สปสช. ร่วมรณรงค์ “วันเอดส์โลก ปี 2567 เคารพสิทธิ มุ่งสู่การยุติเอดส์” จัดสิทธิประโยชน์บัตรทอง คุ้มครองสิทธิการรักษาและการป้องกัน พร้อมจับมือ 71 องค์กรร่วมเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวี/เอดส์ (หน่วยบริการตาม มาตรา 3) ร่วมขับเคลื่อนเชิงรุกในชุมชน
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 67 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือ UNAIDS กำหนดให้ทุกวันที่ 1 ธันวาคม เป็น “วันเอดส์โลก” เพื่อร่วมรำลึกถึงความสำคัญของโรคเอดส์ ภายใต้คำขวัญวันเอดส์โลกประจำปี พ.ศ. 2567 คือ “เคารพสิทธิ มุ่งสู่การยุติเอดส์” (Take the rights path) เพื่อให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทั่วโลกในการเดินหน้าสู่เป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573
ทั้งนี้ สปสช. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเอดส์ ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท โดยเริ่มดำเนินการสิทธิประโยชน์การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มาตั้งแต่ปี 2549 แยกงบประมาณจัดสรรดำเนินการ ซึ่งปี 2550 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่ได้รับการดูแลในระบบบัตรทองฯ รวมทั้งสิ้น 107,011 ราย เป็นผู้รับยาต้านไวรัส 79,185 ราย
นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า ตลอดระยะเวลาการดูแลผู้ติดเชื้อเอขไอวี/เอดส์ จนถึงปัจจุบัน สปสช. ได้ดำเนินการอย่างครอบคลุมในทุกด้านและทุกมิติ ทั้งการรักษาพยาบาล ได้แก่ บริการยาต้านไวรัสทั้งสูตรพื้นฐานและสูตรดื้อยา บริการการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยหรือติดตามการรักษา การตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซีในผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เป็นต้น โดยปี 2567 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ได้รับการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง จำนวน 315,200 คน เกินจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่จำนวน 299,420 คน
ขณะที่การดูแลป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ได้แก่ บริการยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาสู่ทารก บริการให้คำปรึกษาและการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ บริการยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (ยา PrEP) บริการป้องกันการติดเชื้อหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (ยา PEP) บริการถุงยางอนามัยสำหรับผู้ที่เข้ารับบริการให้คำปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจและกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ที่มารับบริการติดตามการรักษาที่หน่วยบริการ เป็นต้น
โดยปี 2567 มีกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับบริการส่งเสริมและป้องกันติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 3,846,841 คน เกินจากเป้าหมายที่กำหนดไว้จำนวน 2,810,674 คน นอกจากนี้ยังมีบริการถุงยางอนามัยให้กับประชาชนทั่วไป ทั้งที่ร้านยา และตู้รับถุงยางอนามัยอัตโนมัติ ผ่านระบบแอบพลิเคชัน เป๋าตัง เป็นต้น ที่เป็นส่วนช่วยสนับสนุน
นอกจากนี้ สปสช. ยังสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการจัดบริการขององค์กรภาคประชาสังคม โดยร่วมกับมูลนิธิ/องค์กรเอกชน/เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทยที่มีศักยภาพ ในการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้าน เอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (หน่วยบริการตามมาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545) ในระบบบัตรทอง ซึ่งจะเป็นกลไกสนับสนุนบริการด้านการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มเสี่ยง โดยการให้บริการเชิงรุกให้เกิดการเข้าถึงและมีติดตามอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุดได้ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการฯแล้วจำนวน 71 แห่ง กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ร่วมให้บริการหนุนเสริมการทำงานของโรงพยาบาลและหน่วยงานที่ทำงานด้านเอชไอวี ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573”
นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับปีงบประมาณ 2568 นี้ สปสช. ได้เน้นดำเนินการสิทธิประโยชน์ “บริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง” (HIV Self Test ) แล้ว โดยให้ประชาชนไทยทุกคน ทุกสิทธิ ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เปลี่ยนคู่นอน ใช้สารเสพติดชนิดเข็ม และมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใส่ถุงยาง เป็นต้น รับชุดตรวจ HIV Self Test นี้ได้ โดยสามารถรับได้ผ่านแอปเป๋าตังไม่เกิน 1 ชุดต่อวัน และเข้ารับชุดตรวจได้ที่หน่วยบริการในระบบบัตรทองฯ ทุกแห่ง ทั้งหน่วยบริการประจำ หน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หน่วยบริการเฉพาะด้านเวชกรรม (คลินิกเวชกรรม) และหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
“วันเอดส์โลก ปี 2567 นี้ สปสช. ขอรณรงค์ภายใต้คำขวัญ “เคารพสิทธิ มุ่งสู่การยุติเอดส์” ในการ่วมเคารพ ปกป้องและคุ้มครองสิทธิ รวมถึงการดูแลสุขภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดย สปสช. ขอร่วมเป็นอีกหนึ่งพลังในการเดินหน้ายุติเอดส์ให้สำเร็จตามเป้าหมายในปี 2573 นี้” นพ.จเด็จ กล่าว