เสียง “คลินิก-ผู้ป่วยบัตรทอง” หลังมติบอร์ดสปสช.ยันแนวทางออกใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าปฏิเสธจ่อขัดกฎหมาย
อีกเสียงสะท้อนจาก ตัวแทน “คลินิกชุมชนอบอุ่นและประชาชนรับผลกระทบปมใบส่งตัวบัตรทอง กทม. ” ส่วนใหญ่ไม่มั่นใจหลังมติบอร์ดสปสช. ให้ใช้ใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์แทนรูปแบบกระดาษ จะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ รอความชัดเจนแนวทางปฏิบัติจากสปสช.
หลังจากวานนี้ บอร์ดสปสช. มีมติให้ประชาชนไม่ต้องไปเอาใบส่งตัวแบบกระดาษ จะปรับมาใช้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และจะมีกฎหมาย 5 ฉบับรองรับ โดยรมว.สาธารณสุข ย้ำว่าถ้าผู้ให้บริการไม่ทำตามจะดำเนินคดี
ล่าสุดวันที่ 3 ธ.ค. 67 ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังตัวแทนคลินิกชุมชนอบอุ่นแห่งหนึ่ง แต่ไม่สะดวกเปิดเผยชื่อ โดยขอใช้ชื่อ เอ (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ประกอบการคลินิกเวชกรรม ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า ตอนนี้การเชื่อมข้อมูลยังไม่มีเลย อย่างคลินิกตนก็ยังเชื่อมไม่ได้แล้วจะส่งข้อมูลเป็นอิเล็กทรอนิกส์อย่างไร ตอนนี้หมอเปิดดูได้แค่ประวัติการรักษาคนไข้ แต่ยังไม่สามารถทําอะไรได้ มองว่าเรื่องนี้ไม่ได้ทำง่ายขนาดนั้น แต่ถ้าถามว่าถ้าทําได้จะดีหรือไม่ ตนมองว่าอย่างไรก็ตามคนไข้ก็ต้องมาที่คลินิกเหมือนเดิม เพราะการออกไปส่งตัวแพทย์ต้องทําการตรวจร่างกาย ซึ่งถือเป็นมาตรฐานวิชาชีพ อย่างเคสติดเตียงที่จะมีทีมแพทย์ไปเยี่ยมที่บ้านเพราะคนไข้มาไม่ได้จริงๆ นั้นตนไม่รู้ว่าจะมีปัญหากับแพทยสภาหรือไม่ในเรื่องของการที่จะให้ข้อมูลหรือให้บริการโดยที่ไม่เห็นคนไข้
“เพราะฉะนั้นในเรื่องใบส่งตัวแบบอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าเป็นคนไข้ที่เห็นกันบ่อย หรือมาหากันแล้วมีการตรวจและคีย์ข้อมูลส่งถึงกัน คงไม่มีปัญหาแต่จะมีปัญหาคือคนไข้ที่ไม่เคยมา หรือไม่เคยรู้จักกันหรือมีอาการเปลี่ยนแปลง คิดว่าหมอคงไม่คีย์ข้อมูลไปโดยที่ไม่เห็นคนได้ เพราะมันผิดหลัก”
อย่างไรก็ตาม ยกเว้นใบอิเล็กทรอนิกส์สามารถดูได้ครอบคลุม โดยดูได้หมดว่านัดทําอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ แล้วคลินิกทำการคีย์ข้อมูลไปเลยว่าส่งตามโรคที่คนไข้เอาบัตรนัดมา แต่ตอนนี้ยังไม่มีอะไรมาเลยแล้วบอกว่าจะออกใบส่งตัวแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เลย เรื่องนี้ต้องมาการันตีโปรแกรมก่อนว่าสามารถเชื่อมโยงเป็นใยแมงมุมได้หมด ซึ่งถ้าทำได้คลินิกคงไม่มีปัญหา เพราะคงไม่มีที่ไหนไม่ออกไปส่งตัวถ้ามีประวัติการรักษาครบคนไข้มา ทั้งนี้อยากให้ทางโรงพยาบาลส่งตัวตามความจําเป็นทางการแพทย์
ขณะที่ บี (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ประกอบการคลินิกเวชกรรมอีกราย ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า ขณะนี้สปสช.ยังไม่ได้มีการชี้แจงกับหน่วยบริการว่า คําว่าอิเล็กทรอนิกส์คืออะไร หน่วยบริการจะต้องทําอย่างไร แล้วจะส่งตัวคนไข้อย่างไร คนไข้ไปที่โรงพยาบาลเลยหรือไม่ หรือว่าคนไข้ต้องมาเดินเรื่องเอง ซึ่งในส่วนนี้เรายังไม่ทราบขั้นตอนการดําเนินงาน วิธีแนวทางการปฏิบัติการประชุมชี้แจงยังไม่เกิดขึ้น
“ตอนนี้ปัญหาในการส่งตัวไม่ได้อยู่ที่การออกใบส่งตัวแบบไหน แต่ปัญหามันอยู่ที่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งทางหน่วยบริการที่เป็นหน่วยปฐมภูมิมีหน้าที่ในการตรวจสอบว่าทางหน่วยทุติยภูมิหรือโรงพยาบาลที่เราส่งต่อไปนั้นจะให้บริการตามที่เราได้ส่งตัวหรือเปล่า หรือในบางครั้งที่เราตรวจพบ อย่างเช่น ให้บริการมากกว่าโรคที่เราส่งไป อาจจะเป็นความต้องการของคนไข้ที่เมื่อไปถึงโรงพยาบาลก็อยากจะรักษาโรคอื่นเพิ่มเติม หรือว่าจะเป็นการตรวจพบโรคใหม่เพิ่มเติม ในขณะที่คุณหมอตรวจแล้วคนไข้ไม่ได้กลับมาเอาใบส่งตัว เรื่องนี้มองว่าใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์อาจจะมีการให้ลงรหัสโรคไปเลย ซึ่งมันอาจจะช่วยในโปรแกรม e-Claim ของสปสช. ที่จะช่วยในการกรองข้อมูลให้ เป็นต้น คิดว่ารูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยจัดการข้อมูลได้ง่ายมากยิ่งขึ้น”
นอกจากนี้อีกประเด็น คือ ถ้าคนไข้มีใบส่งตัวแบบอิเล็กทรอนิกส์ อยากทราบว่าคนไข้จะตรวจสอบได้อย่างไรว่ามีใบส่งตัวอยู่ในมือแล้ว เพราะถ้าเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น เมื่อคลินิกออกใบส่งตัวให้แล้วคนไข้จะสามารถตรวจสอบผ่านแอปของสปสช.ได้หรือไม่ เพื่อที่จะยืนยันว่าคนไข้รายนี้มีใบส่งตัวแล้ว และจะไปรับบริการที่โรงพยาบาลปลายทางจะได้ไม่เกิดปัญหาว่ายังไม่ได้ส่งตัว อันนี้จึงอยากเสนอว่าควรจะมีระบบที่ครอบคลุมเพื่อมายืนยันทั้งผู้ให้บริการทั้งฝ่ายปฐมภูมิทั้งฝ่ายทุติยภูมิแล้วก็คนไข้ เพื่อให้มีข้อมูลในชุดเดียวกัน
ทางด้านประชาชนสิทธิ์บัตรทองที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาใบส่งตัว ได้ให้สัมภาษณ์แบบไม่ขอเปิดเผยตัวตนเช่นกันเนื่องจากเกรงจะได้รับผลกระทบจากการเข้ารับบริการคลินิก …
พลอย (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการออกใบส่งตัวของคลินิกกทม. ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า ในมุมมองคนใช้บริการมองว่าถึงแม้จะเปลี่ยนใบส่งตัวเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือแบบไหนก็ตาม คิดว่าไม่น่าจะแก้ปัญหาเรื่องใบส่งตัวได้โดยยั่งยืนแน่นอน เพราะว่าปัญหาตอนนี้เป็นเรื่องของการจ่ายเงิน และทางโรงพยาบาลที่รับต่อไม่มั่นใจในการ เบิกจ่าย อันนี้คิดว่าเป็นปัญหาหลัก และอีกอย่างกรณีถ้าเกิดคําว่า “30 บาทรักษาทุกที่” ในแง่ของคํากําจัดความนั้น จริงๆประชาชนควรจะเข้าถึงการรักษาได้ทุกที่ อย่างเช่น คนไข้มีใบนัดจากหมอที่โรงพยาบาลที่รักษาซึ่งเป็นใบคําวินิจฉัยของหมอแล้วว่าคนไข้ควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น อันนี้น่าจะถือเป็นคําวินิจฉัยศักดิ์สิทธิ์แล้วโดยที่เราไม่จําเป็นต้องกลับไปขอใบส่งตัวที่หน่วยปฐมภูมิอีกรอบ
“เพราะฉะนั้นในแง่ของการส่งตัว การดูผลการรักษา หรือคําวินิจฉัยของหมอ การมีใบส่งตัวเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์อันนี้มองว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งนี้อยากจะให้กลับมาทบทวนในเรื่องของการจ่ายเงินมากกว่า”
พิม (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการออกใบส่งตัวของคลินิกกทม. ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า ตนมองว่าถ้าปรับมาใช้ใบส่งตัวในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์น่าจะยาก เพราะว่าปัจจุบันแค่แบบแมนนวลก็ยากอยู่แล้ว ตนค่อนข้างไม่มั่นใจในระบบว่าจะเสถียรและจะสามารถทําให้ระบบออนไลน์เป็นไปได้แบบมีประสิทธิภาพ มองว่าทุกอย่างที่สปสช.ประชาสัมพันธ์ออกมาเหมือนจะดูดี และสะดวกต่อประชาชน แต่เอาเข้าจริงแล้วถ้าผู้ใช้งานเข้าไปผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยเข้าไปใช้งานจริงๆ อาจไม่เป็นตามที่สปสช.ประชาสัมพันธ์เอาไว้
“อย่างไรก็ตาม ถ้าระบบทําได้จริงก็ดี เพราะจะสะดวกกับประชาชน ถ้าสามารถเชื่อมข้อมูลทุกอย่างเข้าด้วยกันได้ อย่างเช่น ประวัติการรักษา แต่ประวัติข้อมูลของผู้ป่วยค่อนข้างสําคัญ ฉะนั้นต้องมีความปลอดภัยสูง เพราะว่าอย่างน้อยถ้าข้อมูลหลุดออกไปในหน่วยงานที่มันไม่ควรจะหลุด อย่าง บริษัทประกันต่างๆ อันนี้ก็อันตราย คิดว่าทุกอย่างที่เสนอมาเป็นเรื่องดีทั้งนั้น แต่ว่าขอให้ใช้งานได้จริงและเกิดประสิทธิผลมากที่สุดประชาชนก็โอเค”