MOU ระวังโฆษณาสินค้าบริการอาจเอาเปรียบผู้บริโภค หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กสทช.-กรมอนามัย ร่วมลงนาม MOU ร่วมกับ 10 หน่วยงาน ควบคุมกำกับโฆษณาสินค้าบริการ ผลิตภัณฑ์สุขภาพเอาเปรียบผู้บริโภค หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้มการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 67 ที่โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ มอบหมายให้ พญ.นงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือในการกำกับดูแลการโฆษณาสินค้าและบริการ การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือการดำเนินการในลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม
โดยมี ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. เป็นประธาน พร้อมด้วย น.ส.ยุพาภรณ์ ศิริกิจพาณิชย์กูล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมการค้าภายใน และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมบันทึกข้อตกลง
พญ.นงนุช กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงความร่วมมือฯ ดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผลักดันเพื่อเป็นคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ในการรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการโฆษณาสินค้า และบริการ หรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกรมอนามัยมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการกำกับดูแลการโฆษณาสินค้าและบริการผ่านพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 โดยมีสาระสำคัญ คือ
1) ห้ามโฆษณาอาหารสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก ตามสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ป้ายโฆษณา นิตยสาร อินเตอร์เน็ต ที่ทำให้เข้าใจว่า เป็นอาหารสำหรับทารกหรือเหมาะสมสำหรับใช้เลี้ยงทารก หรือเป็นสินค้าที่ทารกและเด็กเล็กควรรับประทาน
2) ด้านการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กของผู้ผลิตผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายหรือตัวแทนนั้น มีข้อห้ามกระทำดังนี้ ผู้บริโภค ห้ามส่งเสริมการขาย เช่น แจกของขวัญของรางวัล หรือสิ่งจูงใจต่างๆ ให้แก่หญิงตั้งครรภ์แม่และครอบครัวของทารกและเด็กเล็ก การลดราคา แจกหรือให้คูปองส่วนลดและการขายพ่วง ห้ามทำการส่งเสริมการตลาดโดยการลด แลก แจก แถม แจกตัวอย่างให้ของขวัญแม่ที่มีบุตร
ส่วนการบริจาคสามารถทำได้ แต่ต้องไม่มีตราหรือสัญลักษณ์เข้าไปอยู่ในสิ่งของ ห้ามให้อาหารหรือแนะนำสินค้าสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก แก่หญิงตั้งครรภ์, หญิงที่มีบุตรเป็นทารกหรือเด็กเล็ก หรือบุคคลในครอบครัวที่มีทารกหรือเด็กเล็ก และห้ามติดต่อเพื่อสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น การให้ Call center โทรศัพท์ไปหาแม่หลังคลอด หรือการจัดอีเว้นท์ต่าง ๆ
สำหรับหน่วยงานสาธารณสุข ห้ามให้หรือเสนอให้ของขวัญ เงิน สิ่งจูงใจ หรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคลากรด้านสาธารณสุข ห้ามจัดหรือให้การสนับสนุนในการจัดการประชุม อบรม หรือสัมมนาด้านวิชาการ เกี่ยวกับอาหารสำหรับทารกหรืออาหารสำหรับเด็กเล็กแก่หน่วยบริการสาธารณสุข บุคลากรด้านสาธารณสุข หญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงที่มีบุตรซึ่งเป็นทารกหรือเด็กเล็ก เว้นแต่เป็นการสนับสนุนองค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุขและสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแม่และเด็ก ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
“กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยังคงรณรงค์ให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่หลังคลอดจนถึงอายุ 6 เดือน และกินนมแม่ต่อเนื่องร่วมกับอาหารตามวัยถึง 2 ปี เพราะนมแม่ คือ อาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก ช่วยในการเจริญเติบโตและสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก ทั้งนี้ พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่ได้ห้ามขายนมผง เพียงแต่ห้ามโฆษณาและส่งเสริมการตลาดเท่านั้น ดังนั้น เด็กที่จำเป็นต้องใช้นมผงจริง ๆ ก็จะสามารถหาซื้อได้ตามปกติ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว