“หมอสมศักดิ์” ชี้ รพ.ส่วนใหญ่ ยังไม่เชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วย ไม่พร้อมใช้ใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์
ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ ย้ำความสำคัญใบส่งตัวแบบกระดาษ ช่วยเช็คสิทธิ-ดูประวัติผู้ป่วย แนะ สธ.-สปสช. ดูความพร้อม รพ.ทั่วประเทศ เชื่อมโยงข้อมูลเรียบร้อยแล้วหรือไม่ ก่อนประกาศใช้ใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์
จากกรณีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยืนยันให้ใช้ใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์ แทนใบส่งตัวแบบกระดาษ แต่มีหลายฝ่ายกังวลถึงการเชื่อมโยงข้อมูล โดยเฉพาะคลินิกชุมชนอบอุ่นและประชาชน
ยืนยันยังควรใช้ ใบส่งตัวกระดาษ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 67 ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Hfocus ยืนยันถึงความจำเป็นของ ใบส่งตัวแบบกระดาษ ว่า ประโยชน์ของเอกสารการส่งตัวที่เป็นกระดาษมี 2 ส่วนที่สำคัญ เรื่องแรก คือ สิทธิการรักษา เนื่องจากโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ยังไม่ได้ประกาศใช้ทั่วประเทศ หากโรงพยาบาลต้นสังกัด แนะนำผู้ป่วยให้มารับการรักษาได้เลย โดยไม่มีเอกสารการส่งตัวจะทำให้ข้อมูลการเบิกจ่ายนั้นไม่สมบูรณ์
“จังหวัดขอนแก่น ในขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ หากโรงพยาบาลต้นสังกัดที่อาจอยู่ในจังหวัดที่เปิดโครงการนี้ไปแล้ว ไม่ทราบว่า จังหวัดขอนแก่นยังไม่ได้ร่วมโครงการ แล้วแนะนำให้ผู้ป่วยมาได้เลยไม่ต้องมีเอกสารการส่งตัว จะทำให้ผู้ป่วยมาถึงแล้วไม่สามารถใช้สิทธิการรักษาได้ ก็เป็นผลกระทบต่อตัวผู้ป่วย” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
เรื่องที่ 2 ใบส่งตัวแบบกระดาษมีข้อมูลทางการแพทย์ ประวัติ ผลการตรวจร่างกาย ผลการตรวจทางห้องปฎิบัติการต่าง ๆ การรักษาที่ได้รับมาแล้ว ข้อมูลส่วนนี้สำคัญมาก ปัจจุบันยังไม่เชื่อมโยงข้อมูลกัน ถ้าไม่มีข้อมูลหรือประวัติการรักษามา จะทำให้แพทย์ไม่ทราบประวัติการรักษาและไม่ทราบผลการตรวจ ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ต้องเริ่มต้นใหม่
ชี้ต้องใช้เวลาเชื่อมโยงข้อมูลให้ครบทุก รพ.ทั่วไทย
ศ.นพ.สมศักดิ์ เพิ่มเติมว่า ถ้าถามว่า ปีหน้าสามารถใช้ใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมดได้หรือไม่ ก็เป็นไปได้ แต่การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลที่สังกัดคนละกระทรวง อาจจะต้องรอเวลา ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ต้องมีขั้นตอนในการประชุมร่วมมือกัน อีกทั้งเป็นคนละโปรแกรม ต้องให้ทางเจ้าหน้าที่ไอทีมาศึกษาเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลก่อน ทั้งเรื่องประวัติการรักษา หรือข้อมูลแผ่นภาพเอ็กซเรย์ต่าง ๆ ต้องใช้ข้อมูลด้านไอทีในรายละเอียด จึงต้องใช้เวลา กรณีที่ยังไม่ได้ตรวจสอบอย่างชัดเจนว่า ทุกโรงพยาบาล เชื่อมโยงข้อมูลกันหมดหรือไม่ ใบส่งตัวแบบกระดาษก็มีประโยชน์ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเอง ถ้าประกาศนโยบายชัดเจนว่า ใช้ได้ทั่วประเทศไทย เอกสารที่เป็นกระดาษ หรือเรื่องการตรวจสอบสิทธิการรักษาก็ไม่มีความจำเป็น
“ผมว่าสิ่งแรกที่ สธ. และ สปสช. ควรทำ ต้องศึกษาความพร้อมของโรงพยาบาลทั้งประเทศว่า เชื่อมโยงข้อมูลเรียบร้อยแล้วหรือไม่ เท่าที่ทราบ โรงพยาบาลในสังกัด สธ. ก็พัฒนาเรื่องนี้ไปแล้ว ทั้งโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์ มีการเชื่อมโยงข้อมูลเรียบร้อยแล้ว แต่โรงพยาบาลอื่น ๆ ในระหว่างนี้ คงต้องใช้ใบส่งตัวแบบกระดาษไปก่อน ผมอยากให้มีการเช็คให้เรียบร้อยก่อนมีการประกาศใช้ใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ในส่วนของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขณะนี้มีการร่วมมือกับ สปสช. เขตสุขภาพที่ 7 ไว้เบื้องต้นว่า โรงพยาบาลสามารถรับผู้ป่วย 30 บาทรักษาทุกที่ แต่จะดูผลกระทบที่เกิดขึ้นไปด้วย หากมีผู้ป่วยจำนวนมากเดินทางมาจากจังหวัดอื่น ๆ ข้ามมารักษาจนเกินความสามารถของแพทย์ มีข้อตกลงว่า จะรับผู้ป่วยจำกัดในแต่ละวัน และก็ดูโรคที่มีความเหมาะสมว่า ต้องมีการรักษาในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์หรือไม่ ถ้าเป็นโรคทั่วไปที่สามารถรักษาได้ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน ก็จะแนะนำให้กลับไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเดิม