เด็กไทยเผชิญสารพัดปัจจัยเสี่ยง เฉพาะ ก.ย. 67 พบข่าวเยาวชน 97 กรณี ถูกกระทำอนาจาร 16.49%
เวที SYNERGY FOR CHANGE วิเคราะห์ข่าวเดือนกันยายน 67 พบข่าวเด็ก 97 กรณี ถูกกระทำอนาจาร 16.49% ถูกทำร้ายร่างกาย 15.46% ห่วงเผชิญสารพัดปัจจัยเสี่ยง บุหรี่ไฟฟ้า เหล้า ยาเสพติด พนันออนไลน์ สสส.-มูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม ระดมภาคธุรกิจ เปิดพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชน
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 67 ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสื่อสารสังคม “การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเยาวชนโดยภาคธุรกิจเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต”
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม กล่าวว่า เด็กเยาวชนไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัจจัยเสี่ยงนานัปการ ทั้งบุหรี่ไฟฟ้า สุราเสรี ยาเสพติด กัญชา กระท่อม พนันออนไลน์ ปรากฎการณ์ที่เป็นข่าวในสังคมสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ย้ายลงไปที่เด็ก จากนโยบายรัฐที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการเติบโตด้านเศรษฐกิจจนละเลยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเยาวชน โดยเฉพาะสินค้าอบายมุขเสรี
จากการวิเคราะห์ข่าวของกรมกิจการเด็กและเยาวชนในเดือนกันยายน 2567 พบว่ามีข่าวเด็ก 97 กรณี แบ่งเป็นถูกกระทำอนาจาร/ข่มขืน 16.49% ถูกทำร้ายร่างกาย 15.46% ทำร้ายร่างกายผู้อื่น/ทะเลาะวิวาท 11.34% ถูกทอดทิ้ง/เลี้ยงดูไม่เหมาะสม 9.28% ข่าวด้านเยาวชน 9 กรณี แบ่งเป็นทำร้ายร่างกายผู้อื่น 44.44% ถูกทำร้าย 22.22% ทะเลาะวิวาท 11.11% ขโมยจี้ปล้น 11.11% และถูกระทำอนาจาร 11.11%
ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบเยาวชน อายุ 15-24 ปี สูบบุหรี่ 12.7% ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 20.9% หรือ 1.9 ล้านคน ดื่มแล้วขับ 33.06% ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน 25.09% ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารบาดเจ็บและเสียชีวิต และจากรายงานสถานการณ์เด็กเยาวชนและครอบครัวปี 2566 พบว่า เด็กเยาวชนวัยเรียนมีปัญหาสุขภาพจิตจำนวนมาก มีเยาวชนอายุ 15-19 ปีพยายามฆ่าตัวตายถึง 224 คนต่อ 1 แสนประชากร สูงกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ หรือสูงกว่าวัยทำงาน 5 เท่า สาเหตุที่ทำให้เด็กเยาวชนช่วงอายุ 10 – 25 ปี เครียดมากที่สุดคือ การศึกษาและการทำงาน 45.9% การเงิน43.5% ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว 24.5%
ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องหันกลับมาร่วมกับทบทวนและให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของเด็กเยาวชนให้มากขึ้น โดยการทำงานที่ผ่านมาของมูลนิธิพบว่า มีตัวอย่างภาคธุรกิจเอกชนจำนวนหนึ่งที่มีจิตสาธารณะคิดถึงประโยชน์ที่จะตกอยู่กับเด็กเยาวชน ได้ลุกขึ้นมาออกแบบใช้พื้นที่ของตนเองเป็นช่องทางแก้ไขปัญหา เปิดพื้นที่ให้เด็กเยาวชนได้มีพื้นที่แสดงออกทางความสามารถในรูปแบบต่างๆ ทั้ง ศิลปะดนตรีกีฬา กิจกรรมอาสา และทำให้เป็นพื้นที่ปลอดดภัยในช่วงเทศกาล ทำให้เด็กเยาวชนมีพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ เกิด Self Esteem กลายเป็น Community ทางสังคมที่สร้างสรรค์
หากได้มีการร่วมมือผนึกกำลังทางสังคม จะช่วยทำให้แนวคิดการส่งเสริมพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ขยายตัวออกไปได้มากกลายเป็นทิศทางใหม่ของสังคม เหมือนในหลายประเทศที่ลงทุนด้านการพัฒนาคุณภาพคนกลายมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ อยากเห็นพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่เอาตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชนในต่างประเทศ ทำให้เกิดในประเทศไทยบ้าง เช่น การนำ Universal Studio หรือ Disneyland มาลงที่เมืองไทย ซึ่งเป็นธุรกิจเชิงบวกที่สร้างสรรค์แทนธุรกิจด้านอบายมุข
ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันแก้ระบบที่ไม่เหมาะสมที่เด็กกลายเป็นผู้ถูกกระทำตลอดเส้นทางแห่งการเติบโต ทั้งความรุนแรงความเหลื่อมล้ำและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต้องช่วยกันสนับสนุนภาคเอกชนที่ลุกขึ้นมาทำ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีพื้นที่ที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเติบโตสืบไป
นางทิชา ณ นคร (ป้ามล) ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ธรรมชาติของเด็กต้องการเพื่อน ต้องทำให้เด็กมีเพื่อนมีสังคมที่ดี ซึ่งผู้ใหญ่มีหน้าที่ร่วมกันสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนอย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานไม่เท่ากัน ต้องร่วมกันสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนอย่างปลอดภัย ดังนั้น ควรฟังเสียงของเด็ก เข้าใจ mindset ของเด็กก่อนออกแบบกิจกรรม เพื่อให้กิจกรรมสอดคล้องกับความต้องการของเด็ก
ทั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่ภาคธุรกิจได้รวมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก ซึ่งเป็นการป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก ดีกว่ามาแก้ปัญหาหลังจากที่เด็กถูกส่งมาอยู่ที่บ้านกาญจนาภิเษก การแก้ไขปัญหาที่ดีควรแก้ที่ระบบหรือโครงสร้างของสังคม ดีกว่าการบำบัดผู้ที่ได้รับผลกระทบรายบุคคล การร่วมกันเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ที่ปลอดภัยด้วยความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ก็เป็นหนึ่งในความกล้าของภาคธุรกิจที่ช่วยให้สังคมหรือเด็กมีทางเลือกในการทำกิจกรรม มีทางเลือกที่จะปลดปล่อยความเครียดและปลดปล่อยศักยภาพของตนเอง
นายอรรถพล พานพรม ผู้ก่อตั้งกลุ่มเด็กอุบล กล่าวว่า กลุ่มของพวกตนเริ่มต้นจากใช้ดนตรี 3 วง ที่มีคนดูหลักสิบ ใช้เงินของตนเองเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานในพื้นที่สาธารณะ จากนั้นกระแสตอบรับดี จากผู้ชม 10 คนกลายเป็นหลักพัน และหลักหมื่นในช่วงท้ายสุดของการขับเคลื่อนกิจกรรมในแต่ละเอดพิโสด (Episode) โดยในแต่ละเอดพิโสดมีกิจกรรมที่ต่างกัน เช่น ร้องเพลง เล่นดนตรี cover dance cosplay กิจกรรมอาสา การมีพื้นที่สร้างสรรค์ช่วยให้เด็กรู้สึกว่ามีพื้นที่ปล่อยของ ได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบอย่างเต็มที่ จึงอยากฝากถึงภาครัฐภาคเอกชนร่วมกันเปิดพื้นที่ให้เด็กเยาวชนได้มีพื้นที่แสดงออกเพิ่มมากขึ้น
นายวิวัฒน์วงศ์ ดูวา (แดเนียล) ศิลปินเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ผู้เคยผิดพลาดในการใช้ชีวิตจากใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องคนที่ตนเองรักและได้รับโอกาสในการกลับมาใช้ชีวิตใหม่ พัฒนาตนเองจนกลายมาเป็นศิลปินไมค์ทองคำ กล่าวว่า เราต้องเห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่ปิดโอกาส แม้จะถูกต่อต้านอย่างหนักในช่วงแรกเมื่อผู้คนทราบถึงอดีต ที่มูลเหตุมาจากการถูกบุลลี่ในโรงเรียน ทำให้ต้องออกจากระบบการศึกษาเพราะรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ปลอดภัยและมีแต่ความรุนแรง แต่ก็ต้องกลับมาพบเจอปัญหาความรุนแรงที่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง ในที่สุดก็นำมาซึ่งการฆาตกรรม เพื่อปกป้องคนในครอบครัวที่ถูกกระทำ จนต้องเข้ามาอยู่ในบ้านกาญจนาภิเษกในที่สุด
อย่างไรก็ตาม การได้เข้ามาเจอกับป้ามล ทำให้ถูกเจียระไนกลายเป็นคนใหม่ ด้วยการเปลี่ยน mindset ตนเองจากกิจกรรมต่างๆ ของบ้านกาญจนาภิเษก เช่น การวิเคราะห์ข่าวและมีพื้นที่หลากหลาย ทำให้ได้ค้นพบตนเองได้
แดลเนียล กล่าวว่า เราต้องเริ่มเชื่อตัวเองก่อนว่าทำได้เปลี่ยนแปลงตัวเองได้จริง การแก้ไขปัญหาจะใช้ทั้งคลังคำ คลังภาษา คลังเครื่องมือและรู้วิธีที่จะพาตนเองออกจากจุดเสี่ยงและรู้วิธีระมัดระวังเมื่อต้องเผชิญกับความเสี่ยง ความจริงใจเป็นสิ่งที่สามารถทะลุทุกเกราะได้ หากเข้าหาคนด้วยความจริงใจ จะเข้าถึงใจได้โดยง่าย รวมถึงความเข้าใจในปัญหา เราจะสามารถประเมินตนเองได้ว่าเราอยู่ตรงไหนของปัญหานี้ และจะสามารถหาทางออกจากปัญหาได้ไม่ยาก