แพทย์เตือน “ฉีดฟิลเลอร์” หมอเถื่อน อันตราย! เสี่ยงตาบอด อุดตันเส้นเลือดหัวใจ สมอง
แพทย์เตือนฉีดฟิลเลอร์ จากหมอเถื่อน เจอผลกระทบเพียบ! หลุดเข้าหลอดเลือด หามส่งรพ. 60 รายในรอบ 12 เดือน ย้ำ! ก่อนรับบริการความงาม หัตถการ ต้องตรวจสอบเป็นแพทย์จริงหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ของแพทยสภา ตรวจสอบผลิตภัณฑ์จากเว็บไซต์ อย. และตรวจสอบสถานพยาบาลผ่านเว็บฯ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 67 รศ.พิเศษ พญ.วิไล ธนสารอักษร กรรมการและประชาสัมพันธ์สมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการแถลงข่าวจัดกิจกรรม “Master of Complication หัตถการความงาม” ซึ่งจัดโดยสมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ (Thai Society of Cosmetic Dermatology and Surgery) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ปัจจุบันการดูแลความงาม เป็นที่สนใจและเข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางการแพทย์ด้านความงามในประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด จนเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำของโลก
อย่างไรก็ตาม การรักษาที่มากขึ้นทั้งจำนวนผู้รักษา และความหลากหลายของหัตถการย่อมทำให้เกิดกรณีศึกษาเกี่ยวกับผลข้างเคียงทางการรักษา เช่น ภาวะการอุดตันของเส้นเลือด การสูญเสียการมองเห็น การติดเชื้อหลังการรักษาด้วยสารเติมเต็ม การเกิดภาวะผิวไหม้ แผลเป็น จากการรักษาด้วยเลเซอร์ คลื่นเสียง และคลื่นวิทยุ รวมถึงภาวะหน้าผิดรูป การติดเชื้อ และผลข้างเคียงอื่น ๆ ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งทางร่างกาย จิตใจและความพิการ จนถึงอาจอันตรายถึงชีวิตได้
“ เคยมีคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาผลข้างเคียงจากเสริมความงามว่า ตามไปทำกับหมอกระเป๋าที่โกดังแห่งหนึ่ง ซึ่งอันตรายมาก พอเกิดการติดเชื้อแล้ววุ่นวาย และจากข้อมูลของรพ.รามาธิบดี ซึ่งมีเซ็นเตอร์รับคนไข้ พบว่าคนไข้ที่ได้รับผลกระทบจากการรับบริการเสริมความงามที่ไม่ถูกต้องในรอบ 12 เดือนก่อนหน้านี้กว่า 60 ราย ที่ฉีดฟิลเลอร์จากคนที่ไม่ใช่แพทย์ แล้วทำให้เกิดปัญหาฟิลเลอร์แล้วเข้าสู่หลอดเลือด อันตรายมาก ทำให้ตาบอด ถ้าไปอุดตันเส้นเลือดหัวใจ อุดตันเส้นเลือดสมองกลายเป็นโสตรก และเสี่ยงเสียชีวิต แต่ที่รายงานเข้ามานั้นยังไม่มีเคสเสียชีวิต” รศ.พิเศษพญ.วิไล กล่าว
รศ.พิเศษ พญ.วิไล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ขอเตือนไปยังประชาชนว่า การรับบริการความงาม ต้องตรวจสอบว่าแพทย์ผู้ให้บริการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจริงหรือไม่ ผ่านทางเว็บไซต์ของแพทยสภา ตรวจสอบผลิตภัณฑ์จากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตรวจสอบสถานพยาบาลว่าขึ้นทะเบียนหรือไม่ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)