สปสช.ยันไม่ยกเลิก “มะเร็งรักษาทุกที่” จ่อส่งจนท.คุยคนแชร์ข้อมูลทำเข้าใจคลาดเคลื่อน
เลขาธิการ สปสช.ลั่นนโยบาย “มะเร็งรักษาทุกที่” ยังใช้ได้ มีการปรับเงื่อนไขแต่เป็นเรื่องการบริหารหลังบ้าน ไม่กระทบผู้ป่วย จ่อส่งจนท.สื่อสารกับผู้แชร์ข้อมูลโลกออนไลน์ อาจทำประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน
จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อสังคมออนไลน์ รวมไปถึงมีบุคคลที่เป็นตัวแทนของบริษัทประกันรายหนึ่งเผยแพร่ข้อมูลระบุว่า “ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 สปสช. โครงการรักษาโรคมะเร็งฟรี จะใช้ได้แค่รังสีรักษา+เคมีบำบัด ค่าMRI CT-scan ค่าตรวจอื่นๆ ลูกค้าต้องจ่ายเองแล้วนะคะ ประกาศจากสปสช.” ส่งผลให้เกิดข้อสงสัยและกังวลถึงเรื่องนี้ว่า เพราะอะไรจึงมีการจำกัดสิทธิผู้ป่วยบัตรทอง กระทั่งผู้ใช้เฟชบุ๊กรายดังกล่าวลบข้อความทิ้งในเวลาต่อมา
ล่าสุดวันที่ 7 ธ.ค. 67 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า สปสช. ยังคงดำเนินการตามนโยบายมะเร็งรักษาทุกที่(Cancer Anywhere) เหมือนเดิม ไม่ได้มีการจำกัดสิทธิผู้ป่วยแต่อย่างใด แต่ที่มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการเบิกจ่ายกองทุนมะเร็งรักษาทุกที่ เฉพาะรายการให้เคมีบำบัด ฮอร์โมน หรือรังสีรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมบริการผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งกรณีที่มีเหตุสมควร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568
“ทั้งหมดเป็นเรื่องการบริหารหลังบ้าน ไม่ได้กระทบในส่วนผู้ป่วย และขอย้ำว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่มีนัดรักษาหรือจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ที่มีศักยภาพด้านมะเร็ง ยังสามารถเข้ารับบริการได้เช่นเดิมโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว” นพ.จเด็จ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่มีบุคคลบางกลุ่มออกมาแชร์ข้อมูลลักษณะนี้ จะมีการสื่อสารอย่างไร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า การแชร์ข้อมูลลักษณะดังกล่าว เป็นเรื่องไม่จริง และหากมีอะไรที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม ทางสปสช.จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปพูดคุย เพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายมะเร็งรักษาทุกที่(Cancer Anywhere) เดิมมีการตกลงร่วมกับโรงพยาบาลต่างๆ ในการให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็ง ว่า หากผู้ป่วยได้รับวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง แต่คิวในการทำเคมีบำบัด หรือฉาย ที่มีคิวค่อนข้างนาน ผู้ป่วยสามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลที่มีความพร้อมได้ทุกที่ เพื่อไม่ต้องรอคิวนานเกินไป เนื่องจากการรักษามะเร็งต้องเร่งด่วน เพราะมีระยะของโรค แต่ไม่ได้หมายความว่า รพ.ที่รับให้บริการดูแลผู้ป่วยบางกรณี จะต้องรับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาตรงนี้ ทำให้ซ้ำซ้อน เพราะรพ.ที่ได้ค่าเหมาจ่ายตอนแรก ไม่ต้องรักษาโรคด้วยหรืออย่างไร
“จากปัญหาตรงนี้ สปสช.ได้ถูกสภาพัฒน์ตั้งข้อสังเกต ว่า ให้ไปตรวจสอบ รวมถึงนโยบายใหม่ๆว่ามีการซ้ำซ้อนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า หากได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็ง ย่อมต้องได้รับการรักษา เพียงแต่การฉายแสง เคมีบำบัด คิวยาว ก็สามารถไปที่คิวน้อยกว่าได้ แต่หลักๆ อย่างภาวะแทรกซ้อนสามารถรับรักษาที่รพ.ตามสิทธิของตน สรุปคือ ผู้ป่วยยังรับการรักษามะเร็งได้ทุกที่ ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพียงแต่ในแง่การบริหารหลังบ้านมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไข เพื่อให้ชัดเจนขึ้น ไม่เช่นนั้นจะปนกับโรคอื่นๆ เหมือนที่ผ่านมาไปหมด” นพ.จเด็จกล่าว