“คนข่าว” เครียดเกือบ 70% ช่วง ม.ค.-มิ.ย. 67 ธุรกิจสื่อปลดพนักงานไม่ต่ำกว่า 300 คน
สสส. ร่วมกับมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ ประชุมตัวแทนสื่อมวลชน เผย ม.ค.-มิ.ย. 67 ธุรกิจสื่อปลดพนักงานไม่ต่ำกว่า 300 คน ห่วงปี 68 ฟองสบู่สื่อออนไลน์ใกล้แตก พบปัจจัยสังคม “เหล้า บุหรี่ กัญชา” กระทบการทำงาน ด้านปัญหาสุขภาวะของสื่อมวลชนไทย “คนข่าว” เครียดเกือบ 70% ป่วยโรคเอ็นซีดี 77.58% จี้ผู้บริหารองค์กร ผลักดันมาตรการป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 67 ที่โรงแรมอวานี รัชดา กรุงเทพฯ นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดการประชุมโฟกัส กรุ๊ป “ความเสี่ยงและสุขภาวะสื่อมวลชนไทย ปี 2567” ว่า สสส. ร่วมกับมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) จัดการประชุมโฟกัส กรุ๊ป กับตัวแทนสื่อมวลชน 36 คน นอกจากเพื่อการนำเสนอผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะของสื่อมวลชน ยังมีจุดประสงค์ในการประมวลสภาพการทำงานที่กระทบต่อสุขภาวะสื่อในปี 2567 เพื่อวางแนวทางการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในปี 2568 การทำงานของสื่อเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก
ข้อมูลการเลิกจ้างพนักงาน เดือน ม.ค. – มิ.ย. 2567 มีธุรกิจสื่อปลดพนักงานไม่ต่ำกว่า 300 คน แม้จะจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย แต่หากไม่มีงานใหม่จะสร้างปัญหาด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมในระยะยาว สื่อออนไลน์ที่มีปริมาณล้นตลาด บางส่วนปรับลดขนาดองค์กรทำให้สื่อทำงานหนักขึ้น ค่าล่วงเวลา วันหยุดไม่มี เกิดความเครียด อาจทำให้ในปีหน้า สื่อออนไลน์ประสบความยากลำบาก ไม่ได้รับการดูแลด้านสวัสดิภาพและสวัสดิการ ไม่ต่างจากสื่อกระแสหลัก เกิดเป็นภาวะฟองสบู่สื่อออนไลน์กำลังจะแตก ในปี 2568
สสส. ในฐานะองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ ได้พัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม เครื่องมือเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่ความเสี่ยงที่น่ากังวล หากร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. … ที่จะปลดล็อกอาจเป็นการอนุญาตให้มีเครื่องจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อัตโนมัติ หรือกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีแนวโน้มว่าจะเสนอให้มีการนำเข้าและจำหน่ายอย่างถูกกฎหมาย รวมถึงการเดินหน้าเสนอ ร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา พ.ศ. … เพื่อปลดล็อกให้มีการจำหน่ายได้อย่างถูกกฎหมาย เป็นปัจจัยความเสี่ยงด้านสุขภาพ
นอกจากปัญหาด้านสุขภาพส่วนตัวยังต้องรับมือกับปัญหาทางสังคมที่ส่งผลให้ความเครียดทวีคูณ ความคาดหวังของประชาชนคืออยากให้สื่อเป็นกระจกสะท้อนสังคม และชี้แนะทิศทางสังคมให้ถูกต้อง หวังว่าผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะสื่อมวลชนไทยปี 2567 จะสามารถเป็นแนวทางในการแสวงหาวิธีจัดการวงการสื่อ เสนอให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
รศ.ดร.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาวะของสื่อมวลชนไทย ปี 2567 จากกลุ่มตัวอย่างสื่อมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 372 คน แบ่งเป็นเพศชาย 61% เพศหญิง 38% เพศทางเลือก 1% พบว่าทำงาน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน 44.09% ไม่มีความแน่นอนในชั่วโมงทำงาน 19.35% ทำงาน 9-10 ชั่วโมงต่อวัน 13.98% และที่น่าห่วง ทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน 8.60% ที่สำคัญยังพบว่ามีวันหยุดน้อยกว่า 2 วันต่อสัปดาห์ 89.25% ส่งผลให้เกิดความเครียด 69.90% และมีโรคประจำตัว 56.99% โดยเฉพาะป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) 77.58% ดังนั้น ผู้บริหารองค์กรสื่อควรให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหาโดยเร่งด่วน ผลักดันให้เกิดมาตรการป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพเพื่อคุณภาพชีวิตของสื่อมวลชนในระยะยาว