ปี 2567 คนไทยมีลูกไม่ถึง 5 แสนคน หวั่นวิกฤตเด็กเกิดน้อย กระทบแรงงานในอนาคต
ม.มหิดล ชี้ปี 67 คนไทยมีลูกเพียง 462,240 คน เป็นปีแรกที่ต่ำกว่า 5 แสนคน คาดอีก 50 ปีข้างหน้า การเกิดลดลงเหลือเพียง 40 ล้านคน ประชากรหายไป 25 ล้านคน อัตราแรงงานจะเหลือ 22.8 ล้านคน
เมื่อวันที่ 15 มกราคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว “ครั้งแรกในรอบ 75 ปี ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดไม่ถึง 5 แสนคนต่อปี” โดยแนวโน้มจำนวนเด็กเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางนโยบาย ‘มีลูกเพื่อชาติ’ โดย รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาการเกิดน้อย สังคมผู้สูงอายุ เป็นโจทย์หลักของสถานการณ์ประชากร โดยแหล่งข้อมูลสำคัญที่นักประชากรนำมาใช้มาจากสำนักบริหารการทะเบียน
กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ข้อมูลประชากรไทย ปี 2567 มีรวมทั้งสิ้น 65,951,210 คน แต่ตัวเลขที่น่าสนใจกว่าคืออัตราการเกิดของประชากร ซึ่งปี 2566 ที่มีแนวโน้มการเกิดที่สูงขึ้น ราว 519,000 กว่าคน โดยต้นปี 2567 ที่สถาบันฯ ได้พูดคุยกันว่า ปีมังกร เป็นอีกปีที่คนไทยตัดสินใจมีลูกเพิ่มขึ้น จำนวนการเกิดน่าจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อติดตามไปกลับพบว่า อัตราการเกิดในปี 2567 มีตัวเลขอยู่ที่ 462,240 คน ถือว่าต่ำกว่า 5 แสนคน
เมื่อย้อนกลับไปดูอัตราการเกิดของไทยเมื่อปี 2492 เป็นต้นมา มีอัตราเกิดสูงกว่า 5 แสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จนถึงยุคที่ประชากรเกิดมากกว่าล้านคนในปี 2506 – 2526 และหลังจากนั้นอัตราเกิดก็ทยอยลดลง จนถึงล่าสุดปี 2567 เป็นปีแรกที่ไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 5 แสนคน ซึ่งในทางเดียวกันส่งผลให้อัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราการตายต่อเนื่องเป็นปีที่ 4
รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวว่า การกลับมาพิจารณาเรื่องการเกิดน้อยเป็นสิ่งสำคัญ โดยเราจะได้ยินนโยบายการส่งเสริมให้มีบุตร มีลูกเพื่อชาติ แต่ผลที่เกิดขึ้นใน 2 ปีที่ผ่านมากลับสวนทาง จึงเป็นเรื่องที่เราควรกลับมาฉุกคิดให้มากขึ้นว่า เกิดน้อยและยังไม่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นนั้น ประเทศไทยจะมีโอกาสหรือทางเลือกอะไรได้บ้าง
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (United Nations :UN) ได้จัดกลุ่มประเทศทั่วโลกที่มีอัตราการเกิดกำลังลดลง โดยไทยเป็นประเทศเดียวในเขตภูมิภาคที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว นอกจากนั้น ประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศไทยที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่รายได้ค่อนข้างสูง ส่วนกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา จะอยู่ในกลุ่มประเทศที่อัตราการเกิดยังไม่ถึงจุดพีค แต่ก็อาจจะถึงในอีก 30 – 40 ปีข้างหน้า
“อัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate :TFR) ล่าสุดในปี 2567 อยู่เพียง 1.0 ซึ่งถ้าเทียบกับหลายประเทศจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต่ำมาก ๆ เช่น เกาหลี สิงคโปร์ แต่เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่มี TFR อยู่ที่ 1.2 จะเห็นได้ว่าไทยต่ำกว่าญี่ปุ่นด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม นักประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำข้อมูลการเกิดและ TFR มาคำนวณ โดยมีการคาดการณ์ว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า ไทยจะมีการเกิดที่ลดลงเหลือเพียง 40 ล้านคน เท่ากับว่าประชากรจะหายไป 25 ล้านคน หรือมองให้เห็นภาพคือ เฉลี่ยทุก 2 ปี ประชากรจะลดลง 1 ล้านคน” รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าว
รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวต่อว่า ในจำนวนประชากรที่หายไปนั้น ส่งผลกระทบต่ออัตราแรงงานที่จะหายไปเช่นเดียวกัน จากปัจจุบันที่มีจำนวนผู้มีงานทำ 37.2 ล้านคน ในอีก 50 ปีข้างหน้าจะเหลือเพียง 22.8 ล้านคน หรือเท่ากับมีแรงงานหายไป 15 ล้านคน ซึ่งเรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญของวิกฤตประชากร และวิกฤตเด็กเกิดน้อย ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือ แน่นอนว่าวิกฤตแน่นอน
ทั้งนี้ อัตราประชากรที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้น เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ ดังนั้นหากมีการรับมือดี ๆ เรื่องนี้จะไม่ใช่วิกฤต จะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน
รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวว่า สถาบันฯ ได้ทำการสำรวจข้อมูลในปลายปี 2567 ในประชาชนไทยอายุ 28 ปีเป็นต้นไป จำนวน 1,000 กว่าคน พบว่า ร้อยละ 71 มองว่าการเกิดน้อยเป็นวิกฤตของประเทศ และมีเพียงร้อยละ 6 มีมองว่ายังไม่ใช่วิกฤต
“ซึ่งข้อค้นพบนี้ทำให้เห็นว่าคนไทยเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤตนี้ ส่วนคำถามถึงแผนการมีบุตรในกลุ่มประชากรที่มีความพร้อม พบว่าร้อยละ 35.8 ตอบว่าจะมีลูกแน่นอน ร้อยละ 29.9 ตอบว่า อาจจะมีลูก ร้อยละ 14.6 ตอบว่า ไม่แน่ใจ ร้อยละ 13.1 ตอบว่าจะไม่มีลูก และร้อยละ 6.6 ตอบว่าจะไม่มีลูกอย่างแน่นอน” รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวและว่า
จากชุดข้อมูลพบว่า มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่คิดจะมีลูก แม้จะน้อยแต่ก็ยังเป็นแนวโน้มในเชิงบวก ส่วนกลุ่มที่ตอบว่า “อาจจะมีลูก” นั้น เป็นกลุ่มสำคัญต่อนโยบายส่งเสริมการมีลูก ที่จะต้องไปพูดคุยอย่างชัดเจนให้ถึงสาเหตุของการตอบว่า อาจจะ เพราะหากมีการสนับสนุนที่ตรงจุดก็จะทำให้กลุ่มดังกล่าว มั่นใจที่จะมีลูกเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ประชากรที่จะมีลูกอย่างแน่นอนเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละกว่า 60